ภูฟ้าเมืองในสายหมอก


โครงการภูฟ้าพัฒนา จังหวัดน่าน : เมืองนิรมิตตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เดินตามรอยเท้าพ่อ....
ฉันเดินตามรอยเท้าอันรวดเร็วของพ่อโดยไม่หยุด ผ่านเข้าไปในป่าใหญ่ น่ากลัว ทึบ แผ่ไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด มืดและกว้าง มีต้นไม้ใหญ่ ใหญ่เหมือนหอคอยที่เข้มแข็ง พ่อจ๋า...ลูกหิวจะตายอยู่แล้วและเหนื่อยด้วย
ดูซิจ๊ะ...เลือดไหลออกมาจากเท้าทั้งสองที่บาดเจ็บของลูก ลูกกลัวงู เสือ และหมาป่า พ่อจ๋า...เราจะถึงจุดหมายปลายทางไหม?
ลูกเอ๋ย...ในโลกนี้ไม่มีที่ไหนดอกที่มีความรื่นรมย์ และความสบายสำหรับเจ้า ทางของเรามิได้ปูด้วยดอกไม้สวยสวย จงไปเถิด แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่บีบคั้นหัวใจเจ้า พ่อเห็นแล้วว่า หนามตำเนื้ออ่อนอ่อนของเจ้าเลือดของเจ้า เปรียบดั่งทับทิมบนใบหญ้าใกล้น้ำ น้ำตาของเจ้าที่ไหลต้องพุ่มไม้สีเขียว เปรียบดั่งเพชรบนมรกตที่แสดงความงามเต็มที่
เพื่อนมนุษยชาติ...จงอย่าละความกล้า เมื่อเผชิญกับความทุกข์...ให้อดทนและสุขุม และจงมีความสุขที่ได้ยึดอุดมการณ์ที่มีค่า ไปเถิด...ถ้าเจ้าของการเดินทางตามรอยเท้าพ่อ...
๒๕๑๙
บทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ความเป็นมาของโครงการภูฟ้าพัฒนา
เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปในงานพระราชพิธีเป็นทางการ หรือส่วนพระองค์ในที่ต่างๆ ในดินแดนทุรกันดารห่างไกลทั่วแผ่นดินไทย หลายแห่งต้องทรงพระดำเนินเป็นชั่วโมง เพราะการคมนาคมเข้าไปไม่ถึง พระองค์ท่านมิได้ทรงย่อท้อ หรือทรงแสดงออกถึงความเหนื่อยหน่าย หรือทรงอ่อนล้าแม้เพียงสักครั้งเดียว ทรงแย้มพระสรวลกับพสกนิกรชาวไทยที่เข้ามาคอยเฝ้า หรือติดตามอย่างใกล้ชิด ทรงเป็นกันเอง รับสั่งด้วยพระอารมณ์ขันเป็นที่ครื้นเครง จนคณะผู้ติดตามหายเหน็ดเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเมื่อได้ทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท
ทุกวันและค่ำคืน พระองค์ท่านทรงงานหนักด้วยความรัก ทรงตั้งพระทัยพร้อมที่จะทรงแบ่งปันความสุขและโอกาสให้พสกนิกรชาวไทยที่ยากไร้ทั่วแผ่นดินไทย
ร.ต.กิตติ ขันธนิต รองผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตน์ ในฐานะประธานโครงการภูฟ้าพัฒนา กล่าวว่า
“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศ ทรงทำโครงการช่วยเหลือประชาชนในชนบทของประเทศไทยตั้งแต่ยังทรงศึกษาอยู่เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ในพื้นที่ ๕๔๒ แห่ง”
๑๐๐ กว่ากิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองจังหวัดน่าน ท่ามกลางท้องทะเลและขุนเขาที่สลับซับซ้อน บริเวณชายแดนไทย-ลาว ของอำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เช่น
ลัวะ ขมุ ถิ่นกว่า ๒๕,๐๐๐ ชีวิต ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ตามป่าเขา
ราษฎรเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม อันเนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง การคมนาคมไม่สะดวก บางหมู่บ้านต้องเดินเท้าเข้าไป ขณะที่บริการสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้าประปา การติดต่อสื่อสาร การใช้บริการขั้นพื้นฐาน การศึกษา การสาธารณสุขยังไม่ทั่วถึง ทุกหมู่บ้านขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ยึดระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมในรูปแบบการทำไร่เลื่อนลอย เก็บหาของป่าเพื่อการยังชีพ มีฐานะเศรษฐกิจอยู่ในขั้นต่ำมาก รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเพียง ๕,๐๐๐ บาทเท่านั้น สภาพชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้นมาก
ทรัพยากรที่เป็นแหล่งทุนธรรมชาติลดถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ป่าซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำน่านถูกบุกรุก และถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว เกิดความเสื่อมโทรมของที่ดินทำกิน พื้นที่ห่างไกลในชนบทตามชายแดนมีปัญหาสำคัญ ๔ ประการ คือ ความยากจน ขาดการศึกษา สุขภาพอนามัย สภาพแวดล้อมถูกทำลาย เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันจนไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อน ความยากจนทำให้ขาดการศึกษา ขาดการศึกษาทำให้สุขภาพอนามัยไม่ดี รวมถึงสิ่งแวดล้อมสภาพป่าเขาที่ชาวบ้านถากถางเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเลือกพัฒนาที่อำเภอบ่อเกลือ เพราะเหตุที่นี่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ ของแม่น้ำเจ้าพระยา (ปิง วัง ยม น่าน) จำนวน ๖๐% ของแม่น้ำเจ้าพระยาคือแม่น้ำน่าน ถ้าต้นน้ำน่านถูกทำลายก็ย่อมส่งผลกระทบถึงแม่น้ำน่านด้วย
พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กที่บ่อเกลือเป็นโรคขาดสารอาหารไอโอดีน เป็นโรคคอพอกมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ด้วยดินบ่อเกลือ ไม่มีสารไอโอดีน ปัญหาสุขภาพอนามัย การศึกษาด้อยคุณสุขภาพ ความยากจน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไทยภูเขาที่ด้อยโอกาสเหล่านี้ ด้วยความห่วงใยราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร จึงมีพระราชดำริให้สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเริ่มต้นการพัฒนาจากเด็กและเยาวชนในโรงเรียน และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” และทรงขยายงานพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวเด็กยากจนเหล่านี้

โครงการภูฟ้าพัฒนา คือโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ในจังหวัดน่าน ด้วยเป้าหมายที่จะนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน และไม่ส่งผลต่อภาวะสมดุลตามธรรมชาติให้ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่ผลการพัฒนาประเทศโดยภาพรวม โปรดฯให้จัดตั้งศูนย์ภูฟ้าพัฒนาขึ้น เมื่อคราวเสด็จฯทรงเยี่ยมราษฎรและพื้นที่ ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อกลือ จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ย.๒๕๔๒ เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนา และถ่ายทอดความรู้การพัฒนาไปสู่พื้นที่และราษฎรเป้าหมาย ในพื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่ ตามพระราชปณิธานของพระองค์
“ผมไม่นึกว่าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะเสด็จฯมาโปรดบ่อเกลือ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระบารมีของพระองค์ท่าน ทำให้บ่อเกลือเจริญและพัฒนาขึ้นถึงขนาดนี้ พระองค์ทรงเล็งเห็นปัญหาจากเด็ก และประชาชนที่เข้าเฝ้าฯครั้งแรก เมื่อเสด็จฯกลับแล้วก็รับสั่งให้พัฒนาพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ” อาจารย์ปราโมทย์ หมู่พยัคฆ์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอบ่อเกลือ ผู้รับสนองพระราชดำริศูนย์ภูฟ้าที่ อำเภอบ่อเกลือ เล่าความรู้สึกของคนทำงาน
จากประสบการณ์ ที่อาจารย์ปราโมทย์ หมู่พยัคฆ์ เริ่มงานศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ ได้เห็นร่องรอยการพัฒนาบ่อเกลือตั้งแต่ยังไม่มีถนน พื้นที่สีแดง ยุ่งยากต่อการพัฒนา ผู้คน ๘๐% เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะ เป็นชนกลุ่มน้อย ตระกูลมอญเขมร ต้องหนีภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย ต้องจำยอมเข้ากับฝ่ายตรงกันข้าม ต่อมาถูกเรียกว่า ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อเหตุการณ์สงบในปี ๒๕๒๖ จึงได้เข้ามอบตัวและได้ทำงานพัฒนาดังกล่าว
อาจารย์ปราโมทย์เล่าถึงการทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าเคยรับสั่งถึงการพัฒนาประชาชนว่า มีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว พระองค์ท่านจะทรงช่วยให้การดำเนินงานได้ผลดียิ่งขึ้น แต่จะไม่ทรงทำเอง จะทรงมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่อยู่แล้วได้ทำงานกันอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น
ปัญหาที่ทรงเล็งเห็นที่บ่อเกลือ คือปัญหาสุขภาพอนามัย การศึกษาด้อยคุณภาพ ปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชน ปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมถูกทำลายมาก เป็นประเด็นสำคัญที่ทรงหาหนทางช่วยเหลือ
ที่ทรงเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ คืออนามัยแม่และเด็ก ด้วยเหตุนี้งานที่อำเภอบ่อเกลือจึงเริ่มต้นที่โรงเรียน และศูนย์การเรียนชุมชนแม่ฟ้าหลวง สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน
พื้นที่บ่อเกลือมี ๑๒ โรงเรียน ๓ สาขา ส่วนใหญ่ไม่มีโรงเรียนประถมศึกษาให้บริการ ทำให้ประชาชนจำนวนมากถึงร้อยละ ๖๐ อ่านไม่ออก เขียนภาษาไทยไม่ได้ จึงเป็นภารกิจการศึกษานอกโรงเรียนเข้ามามีบทบาท ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนเขตภูเขาเข้ามาจัดการการศึกษาสำหรับชาวไทยภูเขาบนพื้นที่สูง เฉพาะภาคเหนือมีอยู่ ๘ จังหวัด ขณะนี้ได้รับพระราชทานนามใหม่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา (แม่ฟ้าหลวง)” เพื่อเทิดพระเกียรติ “สมเด็จย่า” หลังจากที่เสด็จสู่สวรรคาลัย มีจำนวน ๒๓ ศูนย์ ดูแลชาวไทยภูเขา ครูประจำหมู่บ้านละ ๒ คนในพื้นที่
ด้านการศึกษาได้ทรงพัฒนาเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ๒๗ แห่ง ชาวไทยภูเขา ๓๑ ศูนย์ โรงเรียนมัธยมอีก ๒ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน ส่งเสริมอาชีพ ทรัพยากร ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาในพื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่ ให้เป็นโครงการทดลองงานวิจัย กรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานต่างๆ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทำงานกับโรงเรียนประถม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ปัจจุบันมีแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ๒๕๔๕-๒๕๔๙ โรงเรียนประถม ศูนย์การเรียน โรงเรียน ตชด. พื้นที่รอบประเทศดำเนินการภายใต้แผนงานนี้ทั้งหมด
ด้วยพระราชประสงค์จะลดความรุนแรงจากการขาดสารอาหารในเด็กและเยาวชน จึงมีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการควบคุมการขาดสารไอโอดีน โครงการอาหารเสริมในนม โครงการติดตามการเจริญเติบโตของเด็กนักเรียน ด้วยการกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน
ปัญหาสำคัญที่หลายคนไม่เคยคิดคือ พระองค์ท่านรับสั่งเมื่อปี ๒๕๔๓ ทรงตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไมอาหารกลางวันก็ให้เด็กกินอย่างดี นมก็ให้กิน ทำไมภาวะโภชนาการไม่ลดลงเสียที หรือว่าจะมีพยาธิเยอะ”
ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ามาตอบคำถามว่าเป็นอะไรกันแน่ ปรากฏเป็นจริงดังข้อสันนิษฐาน หลังจากที่มีการสุ่มตรวจเด็กนักเรียนที่โรงเรียนหม่อมเจ้าเจริญใจ จิตรพงศ์ ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และที่โรงเรียนสบมาง บ้านภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ ปรากฏว่าเด็กร้อยละ ๗๕ เป็นพยาธิ
ด้วยเหตุนี้จึงได้คำตอบว่าอาหารที่ให้ไปมากมายนั้นไปเลี้ยงพยาธิ ไม่ได้เลี้ยงเด็กเลย เด็กเหล่านี้มีพยาธิไส้เดือน และพยาธิปากขอ เพราะพฤติกรรมการบริโภคและสุขอนามัยบนดอยนั้นไม่ใช้ส้วม ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเขา เนื่องจากที่นี่ขาดแคลนน้ำ ถึงจะรณรงค์ได้มีการแจกส้วมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ความเคยชินที่เขาเข้าป่าทุกเช้า
จากการตรวจสอบของกรมการศึกษานอกโรงเรียนแล้ว เมื่อเดือน มิ.ย.๒๕๔๕ เด็กจำนวน ๕๗๐ คน เป็นหนอนพยาธิ ๔๑๕ คน หรือร้อยละ ๘๓.๓๓ ที่โชคร้ายกว่านั้น คือ เด็กบางคนมีหนอนพยาธิอยู่ในตัวถึงสองชนิดด้วยกันเป็นร้อยละ ๖๕
“ตัวเดียวก็แย่แล้ว นี่มีตั้งสองชนิดในคนเดียว” แต่ก็ยังโชคดีที่ภาวะคอพอกลดน้อยลง เพราะเด็กเหล่านี้ดื่มน้ำเติมสารไอโอดีน ยาเม็ดธาตุเหล็ก วิตามินไอโอดีนจากหน่วยงานสาธารณสุข ในวัยหญิงเจริญพันธุ์จะได้รับยาเม็ดไอโอดีนด้วย
ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ให้ยาถ่ายพยาธิเป็นการแก้ไขปัญหาระดับง่าย เรื่องหนอนพยาธิไม่ใช่เรื่องการกินเพียงอย่างเดียว หากแต่ขึ้นอยู่กับระบบสุขาภิบาลชุมชน การแก้ไขปัญหาต้องแก้ไขทั้งระบบมิใช่ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่สวมรองเท้า ขับถ่ายในป่าก็แก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ จำเป็นต้องหาเจ้าภาพมาร่วมมือกันจัดทำรองเท้าแจกจ่าย กระทรวงศึกษาธิการให้ความรู้ กระทรวงสาธารณสุขให้ยา เพื่อพัฒนาหมู่บ้าน
“ผมภูมิใจมากที่พระองค์ท่านทรงจำชื่อผมเรียก อาจารย์ปราโมทย์ หมู่พยัคฆ์ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ ด้วยท่านเสด็จฯทรงงานหลายที่ เสด็จฯทรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมเคยกราบบังคมทูลเมื่อปีที่แล้ว เรื่องภาวะคอพอกลดลง ทรงจำข้อมูลได้ รับสั่งว่าปีนี้เด็กเป็นโรคคอพอกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ผมกราบบังคมทูลว่ามีเด็กเข้าโรงเรียนใหม่ ภาวะคอพอกมาจากบ้าน พระองค์ท่านทรงถี่ถ้วน ทรงจดข้อมูลตลอดเวลา ด้วยปากกาหมึกซึม ไม่ทรงใช้เทปบันทึกเสียง เวลาใครกราบบังคมทูลก็ทรงจดเป็นพระจริยวัตรที่พวกเราน่าจะเลียนแบบด้วย หลายคนคิดว่าตัวเองจำได้ ด้วยเหตุนี้พระหัตถ์จะเปื้อนหมึกดำอยู่ตลอดเวลา”
ทุกครั้งที่กราบบังคมทูลรายงานไม่รู้สึกประหม่า ด้วยทรงมีพระอิริยาบถที่อบอุ่น จะกราบทูลสดโดยไม่ถือกระดาษหรือแผ่นร่างคำพูด ทั้งนี้ เพราะงานทุกอย่างทำกับมือ สามารถกราบทูลได้อย่างละเอียด ทรงสนพระทัยรับสั่งถามหลายเรื่องละเอียดมาก
ด้านกิจกรรมต่างๆ ที่ชาวบ้านหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัว นอกเหนือจากการทำไร่นาแล้ว การทำเครื่องหวาย สานเป็นพุ่ม เครื่องปั้นดินเผา ทำแจกันหญ้าสามเหลี่ยม ท่านรับสั่งว่า
“เมื่อปีที่แล้วฉันได้ไปขายสินค้าชาวบ้านกับพี่ๆ ป้าๆ ของฉัน ปีนี้ฉันต้องนำสินค้าเดิมๆ ไปขายอีกหรือ ขอให้ช่วยกันพัฒนารูปแบบให้สินค้าขายได้ง่ายขึ้น ทรงคำนึงถึงการตลาดเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น”
ที่บ่อเกลือมีหวายจำนวนมาก รับสั่งว่าทำอย่างไรจะพัฒนารูปแบบให้มากกว่านี้ และขายได้ราคาแพงท่านจะทรงนำไปขายให้ เรื่องนี้รับสั่งเมื่อปี ๒๕๔๓
“ผมก็ทำท่าจะสนองพระราชดำริ แรกๆ ก็จะทำได้ แต่จนแล้วจนรอดหาวิทยากรมาสอนไม่ได้ ด้วยเจ้าของโรงงานหวงวิชา ไม่ให้วิทยากรทั้งๆ ที่อ้างว่า เป็นโครงการพระราชดำริ แต่เจ้าของโรงเรียนไม่ให้วิทยากร ผมก็ละเลยเรื่อยมา ยอมรับว่าหมดปัญญา คิดว่าเรื่องยุติแล้วปลายเดือน ม.ค.พระองค์ท่านเสด็จฯนราธิวาส และรับสั่งรับรองกิตติ ในสองประเด็นใหญ่ ฉันไปเมืองน่านคราวนี้คงเห็นความก้าวหน้าของงาน ประการที่สองเรื่องหวายไปถึงไหนแล้ว ผมขนลุกเลย เพราะในฐานะกรรมการบริหารภูฟ้าจะอธิบายถึงความก้าวหน้าของศูนย์ภูฟ้าเครื่องเรือนหวายที่ได้รับพระราชกระแสตรงๆ ยังไม่ได้ทำเลย แล้วอีก ๒๐ วัน ท่านจะเสด็จฯมาแล้ว จะทำอย่างไร เป็นเรื่องใหญ่มาก”
ด้วยเหตุนี้อาจารย์ปราโมทย์จึงหาวิทยากรเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ ๕ ก.พ.เสร็จทันถวายงานได้ทันที ทำเฟอร์นิเจอร์หวายถวายได้ ๗ ชุด และรับสั่งว่า กำหนดราคาหรือยัง ให้รีบกำหนดราคาและทำแค้ตตาล็อกไว้เพื่อนำไปโชว์เผื่อใครสั่งจอง และยังรับสั่งด้วยว่า “ทำไมกรมราชทัณฑ์ขายงานชิ้นใหญ่ๆ ได้ หรือว่าเราจะไปร่วมงานประจำปีกับเขาเพื่อขายของชิ้นใหญ่ๆ ด้วย น่าจะดีนะ เพราะร้านภูฟ้าขายของใหญ่ๆ ไม่ได้ สถานที่คับแคบ ท่านยังรับสั่งถึงงานเฟอร์นิเจอร์แฟร์ของกรมส่งเสริมการส่งออกด้วย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ”
เมื่อกราบบังคมทูลเรื่องไม้กวาดซึ่งปกติมักจะหลุดลุ่ยเสมอ ครั้งนี้ชาวบ้านทำได้ดีแล้ว ก็ได้นำไปถวายเป็นตัวอย่าง พระองค์ท่านทรงจับไม้กวาด และทรงทดลองกวาดดู “ดี ไม่เหมือนสมัยฉันเป็นเด็ก ฉันเป็นหัวหน้าเวร กวาดไป หลุดไป ไม่กวาดดีกว่า” เมื่อฟังรับสั่งทุกคนก็หัวเราะด้วยความขบขัน
สำหรับแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการ พื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่ ในพื้นที่ตั้งโครงการ แบ่งเป็น ๑,๔๐๐ ไร่ เป็นที่ทำกินของราษฎร อีก ๖๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ทดลองศึกษาวิจัย ทุกวันนี้การปลูกข้าวไร่เป็นอาชีพหลักเพื่อการบริโภคไม่เพียงพอ เริ่มเก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย. บางบ้านมีข้าวกินเพียง ๓ เดือนเท่านั้น ขณะนี้หลายหมู่บ้านไม่มีข้าวกินแล้ว จึงทรงเสนอแนะให้ปลูกกล้วยเพื่อนำมาบดผสมกับข้าวเพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน ทั้งเป็นการประหยัดข้าวเก็บไว้กินได้ตลอดปี
ชาวเขามีที่ดินมาก ครอบครัวหนึ่งมีเฉลี่ยคนละ ๕ แห่ง ทำไร่เลื่อยลอยหมุนเวียน ปีนี้ทำที่นี่ ปีหน้าก็หมุนเวียนไปอีกที่ เมื่อครบ ๕ ปี กลับมาทำในที่เดิม เพื่อให้เกิดการพักดิน เมื่อมีที่ดินเยอะ ป่าก็ถูกทำลาย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดินเข้ามาศึกษา เพื่อให้มีการทำนาขั้นบันไดเพื่อปลูกข้าว และมีผลผลิตอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วย เริ่มทดลองทำที่ภูฟ้า เพื่อให้ชาวบ้านได้ศึกษาการทำไร่แบบขั้นบันได ปลูกไม้ผล พืชผักผลไม้ด้วย
ขณะนี้ศูนย์สงเคราะห์พัฒนามีอาคารหลังเดียว ในระยะแรกพระองค์ไม่โปรดฯให้สร้าง ด้วยไม่ต้องการให้สิ้นเปลือง แต่คณะทำงานกราบทูลว่าทุกครั้งจะเสด็จฯประทับที่ค่ายเรือนพักแรมสุริยพงศ์ ควรจะมีอาคารหลังหนึ่งใช้เป็นหลักในการพัฒนา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของราษฎรในพื้นที่ จึงรับสั่งให้สร้าง กรมผังเมือง ซึ่งขณะนั้น สุจริต นันทมนตรี เป็นผู้อำนวยการกองผังเมือง (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯมาจังหวัดน่านเป็นครั้งแรก) รับผิดชอบการก่อสร้างพระตำหนักซึ่งเกือบจะแล้วเสร็จ
ภายในพระตำหนักมีพระพุทธรูปประจำพระองค์ พระนาคปรกประจำวันเสาร์ ใช้ผ้าม่านสีม่วงซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติของพระองค์ สวนไทรทอง จากจังหวัดแพร่ ถวายเฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือนเก่าแก่ทั้งหมดภายในห้องส่วนพระองค์ ห้องบรรทม พระที่บรรทม พระเก้าอี้โยก โต๊ะพระสำอาง พระเก้าอี้เป็นที่คุ้ยข้าวเหนียวประดับ มีคันไถเป็นการออกแบบที่สวยงาม
ในพื้นที่ ๖๐๐ ไร่ จะมีการก่อสร้างอาคารฝึกอบรม จัดนิทรรศการ ที่พักผู้เข้ารับการฝึกอบรม อาคารพักวิทยากร อาคารอเนกประสงค์โชว์รูม ลานท่องเที่ยวเป็นที่ล่องแพไปตามแม่น้ำน่าน มีจุดลงแพ ลานปฏิบัติธรรมสำนักงาน ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ทางญี่ปุ่นทูลเกล้าฯถวายเงินให้เพื่อการก่อสร้างส่วนหนึ่ง อาคารหลังหนึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ทูลเกล้าฯถวายเงินที่จะสร้าง เป็นอาคาร ๓ หลัง เป็นอาคารอเนกประสงค์ อาคาร ๑ อาคาร ๒ อาคาร ๓ เป็นอาคารแสดงสินค้า และส่วนหนึ่งเป็นอาคารสำนักงานด้วย แบบบ้านชาวลัวะมาเป็นต้นแบบ ด้านหน้ามีระเบียงปลอดโปร่ง ใกล้เคียงกันนั้นมีต้นแปะก๊วยที่ทรงปลูกไว้เมื่อวันที่ ๑๐ ต.ค.๔๓ และต้นภูคาที่ทรงปลูกไว้เช่นกันเมื่อวันที่ ๗ พ.ย.๔๔


ร้านภูฟ้า เป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในโครงการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีเป้าหมาย ในการสร้างวงจรการตลาด ที่มีประสิทธิภาพระหว่างชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดารกับผู้บริโภค พร้อมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในท้องถิ่น และพัฒนาอาชีพให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงการพัฒนาคนและชุมชน เพื่อสร้างคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. ร้านภูฟ้า เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สานต่องานโครงการส่งเสริมอาชีพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งส่งเสริมและพัฒนาชุมชนในถิ่นทุรกันดารให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเสริมสร้างจิต สำนึกและความรับผิดชอบของประชาชนชาวไทยที่มีต่อการพัฒนาชุมชนในถิ่นทุรกันดาร
2. จุดประสงค์หลักของร้านภูฟ้า คือ การสร้างวงจรการตลาด การพัฒนา การส่งเสริม การผลิตในชุมชนให้เกิด ขึ้นได้อย่างยั่งยืน ด้วยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในโครงการส่งเสริมอาชีพ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มุ่งส่งเสริมอาชีพของประชาชนในถิ่นทุรกันดาร นอกจากนี้ยังมีสินค้าและ กิจกรรมอื่นเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้แก่ร้าน
3. ร้านภูฟ้าจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตลาด ในความ เป็นจริง เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสม โดยคำนึงการพัฒนาสังคมโดยรวมด้วย
4. ร้านภูฟ้าจะพัฒนากระบวนการจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นคืนกลับสู่ชุมชนที่มีส่วนในการผลิต เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
สนใจสั่งซื้อสินค้าหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
ภูฟ้า 210 ชั้น 2 อาคารสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ ถ.พระราม 1 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร./ โทรสาร 0-2658-0209

สำนักงานโครงการส่วนพระองค์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สวนจิตรลดา ดุสิต กรุงเทพฯ 10303
โทร: 0-2282-6511, 0-2281-3921 โทรสาร: 0-2281-3923