[+/-] |
|
ผู้ที่จะเดินทางมาเยือนจังหวัดน่าน ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนล้านนาตะวันออก ชายขอบประเทศ ติดตะเข็บแนวชายแดนไทย-ลาว เมืองแห่งอ้อมกอดของขุนเขา มีธรรมชาติเป็นตัวกำหนดความงดงาม ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อนซ่อนตัวอยู่ค่อนข้างลึกลับ ยากที่ผู้คนจะรู้จัก เป็นเมืองที่ผู้ตั้งใจมาจริงเท่านั้นที่จะรู้จักน่าน เพราะน่านไม่ใช่เมืองผ่าน ถือว่าเป็นเมืองสงบงาม ที่มีศิลปวัฒนธรรมชนเผ่าต่างๆเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง มีกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์โดยเฉพาะกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ตามซอกหลืบของขุนเขา เช่น ม้ง เย้า ขมุ มูเซอ ลั๊วะ ลื้อ ถิ่น พื้นราบ ตองเหลือง(มลาบรี) และชนเผ่าเหาะ ความห่างไกลโพ้น ของชนกลุ่มต่างๆ ถือเป็นดอกไม้แห่งขุนเขา หลาย ๆ ท่านอยากมาสัมผัส เรียนรู้ กับวิถีชีวิตชนเผ่า เมืองน่านมีมนต์เสน่ห์มนต์ขลังแห่งการท่องเที่ยว ไม่แพ้ที่อื่นใด โดยเฉพาะเรื่อง ขุนเขา แมกไม้ สายธาร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำสำคัญหลายสาย เช่น สายน้ำว้า ที่ตื่นเต้นเร้าใจกับการล่องแพยาง สายน้ำน่าน สายน้ำแห่งสีสันของชาวน่าน จนเกิดเป็นวัฒนธรรมสายน้ำน่าน ไม่ว่าจะเป็นประเพณีการแข่งขันเรือยาวที่โด่งดังของเมืองน่านและทั่วทั้งประเทศ ผมได้เขียนเป็นสาระสำคัญความคิดรวบยอดนำทางการท่องเที่ยวไว้ดังนี้ ผาชู้ดังชื่อ เลื่องลือคือดอยวาว แสนเหน็บหนาวคือดอยภูคา เดินเมื่อยล้าคือดอยภูแว ล่องแพคือห้วยทรายมูลแก่งน้ำว้า ถิ่นปลาคือ ปากนาย เขาเรียงรายคือน้ำออกรูภูสันเจริญ ชอบเผชิญความเร้าใจคือแก่งหลวง ชอบดูดวงดาวคือภูฟ้า ไกลสุดหล้าคือ ชายแดนห้วยโก๋น เขาหัวโล้นคือถ้ำเวียงแก แลทิวสวยคือขุนสถาน เค็มตลอดกาล คือบ่อเกลือ อยู่เหนือขุนเขาคืออุทยานแห่งชาติขุนน่าน ล้าหลังตลอดกาลคือตองเหลืองห้วยหยวก ทางเกวียนสะดวกคือผาผึ้งภูกระดึงนาน้อย สายน้ำหยดย้อยคือน้ำตกศิลาเพชร หินงอกเป็นเกล็ดคือถ้ำหลวงสะเกิน ดินแดนน่าสรรเสริญคือภูพยัคฆ์ ผู้คนไม่รู้จักคือถ้ำผาแดงมณีพฤกษ์ ท่องลงน้ำลึกคือล่องเรือไม้สายน้ำน่าน ชื่นชมสายธารคือเขื่อนน้ำว้า เที่ยวทุกกาลเวลาคือน่านบ้านเรา ส่วนในรายละเอียดของแหล่งท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ของเมืองน่านกรุณาคลิกไปที่WWW.geocities.com/nantour_2006 งานเขียนผู้ใช้นามปากกา “ฅนขุนเขา” ในช่วงฤดูหนาว เทศกาล แห่งการท่องเที่ยวท่านที่ได้มาสัมผัสมาเยือน มาตั้งแค้มป์ไฟ เคล้าคลอกับเสียงเพลงเพื่อชีวิต ผสมผสานกับบรรยากาศสายลมเบา ๆ บนดอยสูงของขุนเขา พักผ่อนกับสถานที่ ที่อยู่ห่างไกลจากความสับสนวุ่นวาย ของอุทยานแห่งชาติหลาย ๆ แห่งชาติ มาสูดไอดิน กลิ่นไพรที่บริสุทธิ์ กลางผืนป่ากว้างใหญ่ที่มีโอโซนมากที่สุดของประเทศไทย บนดอยภูคามีอากาศโอโซนอัดกระป๋องขาย น่านมีธรรมชาติที่ถือว่าเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่อยู่กลางผืนป่า ที่ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา มวลแมกไม้ พืชพันธุ์ สัตว์ป่า ความสมดุลของธรรมชาติ ที่อยู่ร่วมกันอย่างลงตัวและกลมกลืน ผมรับรองความผิดหวัง ในความตั้งใจที่จะมาเยือนน่าน หากท่านมีโอกาสเดินทางมาเยือนน่าน อำเภอเวียงสาจะต้องผ่านเป็นอำเภอแรกถือเป็นประตูสู่น่าน เป็นจุดศูนย์กลาง ที่จะท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ชื่นชมวัฒนธรรมหรือดื่มด่ำธรรมชาติ เชิญแวะพักรถ พักคน พักเหนื่อย ผ่อนคลายเมื่อย ดื่มน้ำเย็น กาแฟสักแก้วหนึ่ง ให้ร่างกายสดชื่น และสอบถามเส้นทางแผนที่การท่องเที่ยวน่าน จากไกด์ที่ช่ำชองพิเศษ ยินดีให้คำปรึกษา เรื่องเส้นทางท่องเที่ยว ที่เวลาจะต้องเหมาะสมกับสถานที่ เชิญแวะเที่ยวเยือน และชื่นชมกับร้านอาหารเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ของอำเภอเวียงสาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอาย ของความเป็นเพื่อชีวิตตัวจริง ที่ขึ้นชื่อลือชาในสไตส์คันทรี่ย์ คาวบอยเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของเมืองน่าน และถูกโหวตให้เป็นร้านอาหารที่ตกแต่งภายในได้สวยงามที่สุดของเมืองน่าน เรื่องความสะอาดเน้นเป็นพิเศษ เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่สามารถรองรับบุคคลสำคัญ หรือ บุคคลพิเศษ ของท่าน ที่มาเยี่ยมเยือนเมืองน่านด้วยบรรยากาศเป็นกันเองสบาย ๆ เหมือนกับอยู่ที่บ้านของท่าน มีศิลปินเพื่อชีวิตหลาย ๆ ท่านมาเยี่ยมเยือนให้กำลังใจที่ร้านเบียร์เฮ้าส์อยู่เสมอ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองน่าน ซึ่งที่นี่ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ของการท่องเที่ยวน่าน เพราะเจ้าของร้านเป็นนักคิดนักเขียนหนังสือ เขียนบทความ “บันทึกร่องรอยการเดินทาง เล่าขานตำนานน่าน” ลงหนังสือพิมพ์ “นันทบุรีนิวส์” ลงในนิตยสาร วารสารของการท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นสื่อมวลชนนิตยสารข่าวตำรวจและท่องเที่ยว เป็นนักดนตรีเพื่อชีวิต (ดีดกีตาร์ เป่าเม้าส์ ร้องเพลง) เป็นหัวหน้ากลุ่มถักทอสายใยเพื่อชีวิต เป็นครูผู้สอนวิชาดนตรีโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์น่าน เป็นผู้ที่เดินทางไปทุกหมู่บ้าน 889 แห่ง 98 ตำบล ทั่วทั้งเมืองน่านอีกด้วย อยากจะแนะนำทำความรู้จักกับเจ้าของร้านผู้มีอัธยาศัยเป็นกันเอง มีประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว ชื่อ นายสุรนันทร์ ลิ้มมณี (อาจารย์โทน) เจ้าของผู้จัดการร้านอาหารเบียร์เฮ้าส์ผับ ประกอบธุรกิจรับเช่าเหมาทัวร์รถตู้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะรับจัดทัวร์ที่มาเยือนเมืองน่าน สอบถามเส้นทางการเดินทางได้ทุกพื้นที่ของจังหวัดน่านซึ่งอาจจะเป็นไกด์นำทางที่ถูกใจร่วมเส้นทางไปด้วย ใคร่อยากให้ทุกท่านได้สัมผัสสู่.............
ตำนานร้านเบียร์เฮ้าส์ผับ บันทึกร่องรอยการเดินทาง เล่าขานตำนานน่าน ซึ่งได้เล่ากล่าวขานตำนานของสถานที่ หรือแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติ ทุกพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดน่าน ไว้มากมาย ในโอกาสนี้เป็นบันทึกร่องรอยของคนชอบเดินทางท่องเที่ยวในประเภท ร้านอาหารสถานบันเทิง ที่อยากจะแนะนำ สู่ร้านอาหารเพื่อชีวิตเล็กๆ ที่เต็มเปี่ยมให้ความรู้สึกที่มีชีวิตชีวา พาใจรื่นเริงตามบรรยากาศของร้าน ซึ่งถือว่าเป็นตำนานเลยทีเดียว การทำอะไรสักอย่างที่ได้กระทำติดต่อกันไม่น้อยกว่าทศวรรษ (สิบปีขึ้นไป) ถือว่าเป็นตำนาน ขอแนะนำสู่ตำนานร้านเบียร์เฮ้าส์ผับกับเจ้าของร้านผู้มีอุดมการณ์ อันแน่วแน่ของคนเพื่อชีวิต เริ่มตกแต่งร้านมาตั้งแต่ปี 2537 และเปิดให้บริการมาตั้งแต่ วันที่ 27 กรกฎาคม 2538 รวมระยะเวลาร่วม 14 ปี ตั้งอยู่เลขที่ 261 หมู่ 3 ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน รหัสไปรษณีย์ 55110 อยู่ใกล้สวนสาธารณะริมน้ำสาหรือ อยู่ใกล้กาดแลงบ้านกลางเวียง ประวัติความเป็นมาของร้านเบียร์เฮ้าส์ผับ สถานที่แห่งนี้มีตำนาน เป็นบ้านไม้หลังเก่า ๆ ของพ่ออุ้ยคำ และ แม่อุ้ยนำ ริกากรณ์ (เสียชีวิตแล้ว) แม่อุ้ยนำเป็นบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเรื่องงานฝีมือทุก ๆ ด้าน และเรื่องไสยศาสตร์ต่างๆ ส่วนพ่ออุ้ยคำเป็นเจ้าของฝูงม้า และสถานที่แห่งนี้พ่ออุ้ยคำใช้เป็นที่เลี้ยงฝูงม้าในสมัยก่อน พ่ออุ้ยคำจะเลี้ยงม้าไว้สำหรับขนสินค้า หรือเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “ม้าต่าง” คือใช้ม้าเป็นพาหนะในการเดินทาง ขนสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มไปจำหน่ายยังประเทศลาว ประเทศพม่า และหมู่บ้านยากจนแถวตะเข็บแนวชายแดนไทยลาว ยังใช้ม้าให้คณะละครเช่า เพื่อนำไปแสดงละคร ผมเองตอนเล็ก ๆ ยังเคยขี่ม้าอยู่บ่อย ๆขี่ไปไร่จำหิน ตำบลปงสนุก อำเภอเวียงสา เวลาผมขี่อุ้ยคำจะเป็นผู้ดูแล จูงม้าอยู่ใกล้ ๆ ตลอดเส้นทาง หลังจากที่พ่ออุ้ยคำเสียชีวิตลงด้วยวัย 96 ปี ความผูกพันต่าง ๆ สายใยของความเป็น “คาวบอย” ยังหลงเหลืออยู่ อุปกรณ์ ที่ใช้กับม้าก็เหลือเพียงเล็กน้อย ก็ได้ดัดแปลงบ้านหลังเก่าๆ จัดตกแต่งออกเป็นสไตส์คาวบอย ที่พ่ออุ้ยคำ ท่านเคยชื่นชอบ ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์อย่างสมเกียรติ รูปภาพเครื่องแกะสลักต่างๆ ออกในลักษณะคันทรีย์คาวบอย ภาพต่างๆ จะเป็นเรื่องราวของคาวบอย โดยเฉพาะเป็นรูปม้าเป็นส่วนมาก ซึ่งได้จัดสร้างไว้สืบสานสร้างสรรค์ตำนานอุดมการณ์ ของพ่ออุ้ยคำ และถักทอ สายใย เพื่อชีวิตให้คงอยู่คู่ร้านเบียร์เฮ้าส์ต่อไป ร้านอาหารเบียร์เฮ้าส์ผับ เป็นร้านอาหารเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ท่านที่ได้มาสัมผัส จะได้รับอรรถรส ทั้ง หู ตา ปาก ภายในร้านประดับประดาตกแต่งด้วย เครื่องแกะสลักทั้งร้าน ออกสไตส์คันทรีย์คาวบอย จะถือได้ว่าตกแต่งได้บรรยากาศและอารมณ์ที่สุดก็ว่าได้ ออกจะคลาสสิคหรูหราลงตัวอย่างมีสไตส์ โดยมีสโลแกนของร้านว่า“เบียร์เฮ้าส์ เร้าใจกว่า” ภายในร้านติดแอร์เย็นฉ่ำ และยังมีแบบเปิดโล่งกว้าง รับอากาศอย่างเย็นสบายอารมณ์ มีมุมที่เป็นส่วนตัว ชมรายการดีสคัพเวอร์รี่ และฟุตบอล ยูบีซี ด้วยจอโปรเจคเตอร์ ฟังเพลงเพื่อชีวิตจากผู้มีอุดมการณ์ทุกค่ำคืนหรือท่านที่อยากจะมีบรรยากาศเป็นส่วนตัว ยังมีห้องพิเศษ แอร์เย็นฉ่ำ รองรับท่านได้ขับร้องเพลงหลากสไตส์ ด้วยห้องคาราโอเกะ ห้องหลงจู๊ และห้องจู๊หลง อีกด้วย เบียร์เฮ้าส์ขอต้อนรับทุกท่านสู่สัมผัสบรรยากาศ และบริการอันแสนอบอุ่น กับรอยยิ้มที่รอรับการมาเยือนของท่าน ลิ้มรสกับอาหารเมนู หลายรูปแบบด้วยรสชาติที่ประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นส้มตำทะเล เอ็นไก่ทอด ยำปลาสมุนไพร แกงส้มแป๊ะซะ ยำปลาดุกฟู ปลานึ่งมะนาว ปลาทอดน้ำจิ้มสามรส และอีกมากมาย ร้านเบียร์เฮ้าส์อยู่ไม่ไกลจากอำเภอเมืองน่าน ท่านที่เดินทางมาน่าน ก็จะถึงอำเภอเวียงสาก่อน ซึ่งห่างจากอำเภอเมืองน่าน 23 กิโลเมตร เท่านั้น เป็นระยะทางที่ขับรถมาเพียงครู่เดียวก็ถึง (ไม่ไกลจากใจคุณ หากประทับใจ) บางคนที่ได้มาเยี่ยมเยือนถึงไกลใจชอบ หลงไหลในเสน่ห์ของร้าน หาที่ไหนยากจะเสมือน เหมือนกับต้องมนต์ขลังแล้วกลับมาชื่นชมอีก ชอบในบรรยากาศของร้าน หาโอกาสที่ดีไปเยือนให้ได้ รับรองไม่ผิดหวัง ร้านเบียร์เฮ้าส์ยังมีกิจกรรมปาเป้า ( แน่ต้องปา วาจาอย่าเป็นเซียน )ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ทดสอบประลองฝีมือ มีรางวัลแจ็คพ็อตมากมาย หากท่านได้มาเยือน เชิญชวนแต่งตัวในสไตส์ คันทรีย์คาวบอย แล้วไปรับบัตรลดตลอดกาลจาก อาจารย์โทนได้ทุกวันเวลา ร้านเบียร์เฮ้าส์ยังเป็นสถานที่รวมกลุ่มของฅนเพลงเพื่อชีวิต และเป็นสำนักงานกลุ่มถักทอ สายใย เพื่อชีวิต โดยมีจุดประสงค์เพื่อรับบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่มกันหนาว ทุนการศึกษาเพื่อเป็นสะพานบุญให้กับทุก ๆ ท่านแล้วนำไปบริจาคมอบให้กับน้องผู้ด้อยโอกาสพื้นที่ธุรกันดาร บริเวณตะเข็บแนวชายแดนไทย – ลาว ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีนิยมของกลุ่มถักทอ สายใย เพื่อชีวิต ซึ่งได้กระทำต่อเนื่องกันมาปีนี้ ( พ.ศ.2551 ) เป็นปีที่ 12 แล้ว โดยมี อาจารย์โทน เป็นหัวหน้ากลุ่ม นอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์ลิขสิทธิ์ แบรนด์เนม ฅนขุนเขา เช่น เสื้อฅนขุนเขา เสื้อวรรณกรรม ผ้าโพกหัวฅนขุนเขา ย่ามแผนที่ท่องเที่ยวจังหวัดน่าน และหมวกฅนขุนเขา จำหน่าย ซึ่งเป็นของฝากที่ได้รับความนิยมสูงสุดของจังหวัดน่าน อีกด้วย (จองร้าน โทร.086-9168261 , 054-781740)
[+/-] |
เขื่อนน้ำว้า |
เขื่อนน้ำว้า
โครงการไฟฟ้าลุ่มน้ำน่านตอนบน 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดน่าน ช่วยชาวบ้านลดภาระค่าไฟฟ้า แก้ปัญหาภัยแล้ง พัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดต้นปี 53 ประชาชนชาวน่านได้ใช้ครบ 3 แห่ง นายสัมฤทธิ์ เหมะ หัวหน้าควบคุมการก่อสร้างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสร้างเขื่อนน้ำว้า อ.เวียงสา จ.น่าน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ที่ใช้น้ำในลำน้ำธรรมชาติเป็นพลังงานในการเดินเครื่อง โดยวิธีสร้างเขื่อนขนาดเล็กปิดกั้นแม่น้ำไว้ เขื่อนขนาดเล็กจะพัฒนาโดยการผันน้ำจากเขื่อนไปยังโรงไฟฟ้าด้วยระบบส่งน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ 200 กิโลวัตต์ขึ้นไปมีกำลังผลิตรวม 8,200 กิโลวัตต์ คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 36 ล้านหน่วย สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ยิ่งในภาวะราคาน้ำมันผันผวนก็จะยิ่งทำให้ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น ประชาชนก็จะมีรายจ่ายที่สูงขึ้นตาม นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าเขื่อนจะมีอ่างเก็บน้ำที่ใช้รองรับน้ำในฤดูฝนสามารถบรรจุน้ำได้ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถป้องกันน้ำท่วม ลดการเกิดไฟป่า ใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค และบริโภค เพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงเป็นแหล่งขยายพันธุ์ และอยู่อาศัยของสัตว์และพืชน้ำได้ด้วย สำหรับการพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดเล็ก โดยดำเนินการก่อสร้างอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือ ฝายธงน้อย อ.เมือง และฝายหนองนก อ.เวียงสา ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนแห่งสุดท้าย คือเขื่อนน้ำว้า อ.เวียงสา ได้เริ่มสร้างเมื่อเดือนกันยายน 2549 ใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อการก่อสร้าง เป็นเงินจำนวน 850 ล้านบาท ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2553 และจะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังพื้นที่ อ.เวียงสา และ อ.นาน้อย ได้
[+/-] |
รถด่วนหรือ หนอนกินเยื่อไผ่ |
ลักษณะทั่วไป:เป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง ขนาดกางปีกเต็มที่ประมาณ 3.0-6.0 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับเพศ กล่าวคือผีเสื้อเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ปีกมีสีน้ำตาลส้มปนดำ มีลวดลายซิกแซก สีดำที่ขอบปีกคู่หน้าเห็นได้ชัดเจน ผีเสื้อมีหนวดแบบเส้นด้ายทั้งสองเพศ ไข่สีขาวปนเหลือง หรือสีครีม ขนาดประมาณ 0.1 เซนติเมตร ตัวหนอนมีสีขาวขุ่น ส่วนอกสีน้ำตาลอ่อน หัวสีน้ำตาลเข้ม ข้างลำตัวมีจุดสีดำขนาดเล็ก ปล้องละ 1 คู่ตลอดลำตัวประมาณ 9 คู่ โดยอยู่ที่อก 1 คู่ และที่ท้อง 8 คู่ ตัวหนอนมีขนอ่อนๆกระจายห่างๆกันตามลำตัว ตัวหนอนเมื่อโตเต็มที่มีขนาดความยาว 3.5-4.0 เซนติเมตร
ดักแด้ ดักแด้มีสีน้ำตาลแดง ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร เป็นดักแด้เปลือยไม่มีใยหุ้ม แต่จะเข้าดักแด้รวมกลุ่มกันในปล้องไม้ไผ่และสร้างเยื่อกั้นไว้
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนออกจากดักแด้ในราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม โดยมีอัตราส่วนเพศของผีเสื้อระหว่างเพศผู้และเพศเมียจะเป็น 1:1 ผีเสื้อตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 8-20 วัน ขึ้นอยู่กับท้องที่ และมีพฤติกรรมในการบินเล่นไฟในเวลากลางคืน
การผสมพันธุ์และการ วางไข่ การผสมพันธุ์จะเกิดในเวลากลางคืน เช่นเดียวกับการวางไข่ ซึ่งไข่จะถูกวางเป็นกลุ่มสีขาวขุ่น ไว้ที่หน่อไผ่ที่มีอายุประมาณ 10-15 วัน โดยผีเสื้อเพศเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ 250-300 ฟอง และไข่ใช้เวลาฟัก 2-6 วัน
รถด่วน สุดยอดอาหารโปรตีนสูง ที่หากินยากมากไข่ของผีเสื้อหนอนกิน เยื่อไผ่ใช้เวลาฟักประมาณ 2-6 วัน ในเดือนกรกฎาคมคมจนถึงสิงหาคม ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะมีสีน้ำตาลใส และอยู่เป้นกลุ่มใหญ่ในระยะแรก ต่อมาจะเริ่มเจาะเข้าไปในลำไผ่ในขณะที่หน่อกำลังยืดตัว ทำให้เกิดเป็นรูที่มีขนาด 0.5 มิลลิเมตร เพียงรูเดียวที่ข้างปล้อง และตัวหนอนทั้งหมดจะอาศัยรูนี้เข้าสู่ปล้องไผ่ หลังจากนั้นตัวหนอนจึงเริ่มกระจายกันออกหากินเยื่อไผ่ โดยการเจาะทะลุข้อของปล้องขึ้นสู่ยอด การกินอาหารจะยังจับตัวกันเป้นกลุ่มๆตลอดทั้งปล้อง แล้วเคลื่อนย้ายไปสู่ปล้องอื่นๆต่อไป สังเกตได้จากการที่ภายในปล้องจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม และมีมูลสีดำของตัวหนอนอยู่ภายใน แต่สำหรับไผ่ซางคำจะพบมูลหรือสิ่งขับถ่ายเป็นเมือกอัดแน่นภายในปล้องบางส่วน ของไม้ไผ่ เช่น บริเวณยอดของลำจะมีรอยแตกหักเสียหาย อันเนื่องมาจากการทำลายของตัวหนอน
รถด่วน สุดยอดอาหารโปรตีนสูง ที่หากินยากมากระยะพักตัวของตัวหนอน ในเดือนธันวาคม ตัวหนอนที่โตเต็มที่จะเริ่มเคลื่อนย้ายจากยอดไผ่ลงมารวมกันที่จุดที่ตัวหนอน เจาะเข้าไปในครั้งแรก หรือเหนือขึ้นไปอีกหนึ่งปล้อง แต่มักจะเป็นปล้องที่อยู่เหนือปล้องที่ตัวหนอนเจาะเข้า 1 ปล้อง เพื่อเข้าสู่ระยะพักโดยไม่กินอาหารตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม และตัวหนอนจะสร้างเยื่อบางๆปิดรูระหว่างปล้องไว้เพื่อป้องกันน้ำฝนและศัตรู ธรรมชาติ ก่อนที่ตัวหนอนจะเข้าดักแด้ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งจำนวนตัวหนอนที่พบจะมีประมาณ 85-235 ตัวต่อลำ (เดชา และสมาน, 2535) ตัวหนอนใช้เวลา 270-300 วัน เป็นที่น่าสังเกตว่าไผ่ที่ถูกตัวหนอนทำลาย 12-15 ปล้องโดยเฉพาะปล้องที่ 11-15 จะถูกทำลายอย่างหนัก และไผ่ลำหนึ่งพบตัวหนอนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ลำไผ่ที่ถูกทำลายด้วยหนอนเยื่อไผ่นี้เป็นไผ่ลำใหม่ของปี ลำไผ่มักมีรูเนื่องจากนกหัวขวานเจาะหาอาหารเป็นระยะๆ หรือที่ปลายหน่อ มีรอยแตกอันเนื่องจากตัวหนอนกินเยื่อไผ่ จนกระทั่งถึงเนื้อไม้ไผ่
การเข้าดักแด้ ตัวหนอนจะเข้าดักแด้เป็นกลุ่มที่ปล้องที่ตัวหนอนใช้พักตัว อาจเข้าดักแด้ที่ข้อ หรือข้างปล้องก็ได้ และมีเยื่อบางๆปิดกลุ่มดักแด้ไว้ ดักแด้จะใช้เวลา 40-45 วัน ในเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม (เดชา, 2535) และ 46-60 วัน ในเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม (ลีลา, 2537)
วงจรชีวิต:วงจรชีวิติจากระยะไข่จนเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ตัวเต็มวัยมีอายุ 8-20 วัน ไข่ใช้เวลา 2-6 วัน ตัวหนอน 270-300 วัน ดักแด้ 40-60 วัน
[+/-] |
ตามหารังต่อนึ่ง ที่ตลาดยามเย็นเมืองน่าน |
ว่ากันด้วยเรื่องอาหารการกินแล้วแต่ละภาคของไทยจะชอบไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับภูมิศาสตร์ ขึ้นอยู่กับพืชและสัตว์ว่าเป็นอย่างไร หากบ้านอยู่ติดๆ ทะเลก็ต้องปลาทะเล กินจนเบื่อไปเลย หากติดแม่น้ำลำคลอง ก็กินปลาหมอ ปลาช่อน หากอยู่กะป่าเขา ก็เป็นหมูป่าอะไรประมาณนั้น แต่ในแต่ละภาค เขาก็จะมีสุดยอดของสุดยอด อาหารที่หาทานยาก อร่อยๆ อยู่ภาคละไม่กี่อย่าง และวันนี้หมูหิน มาเที่ยวน่านทั้งที เราก็ไปแสวงหาของแปลกมาให้ท่านได้รู้จักกันครับ นั้นคือ "รังต่อนึ่ง" หน้าตาก็แบบในรูปด้านบนครับท่าน ซู๊ดๆๆๆน่าหม่ำไหมล่ะช่วง เย็นๆ ทุกๆจังหวัดจะมีตลาดให้ชาวบ้านมาซื้อหาอาหารไปทานกัน
ผมเองก็ชอบไปเดินดูว่าบ้านเมืองนี้เขากินอะไรกัน จึงทำให้ไปเห็นเจ้ารังต่อนึ่งครับ จริงๆเคยได้เย็นมาบ้างวันนี้พึงเห็นกะตาตัวเอง ที่ตลาดยามเย็นมีชาวบ้านมาวางขายแค่รายเดียวเท่านั้น มีอยู่ 10 รัง รังละ 70 บาท หากรังย่อมลงมาราคาก็ลดลงเหลือ 60 บาท ส่วนรังไหนตัวยังเล็กก็ 45 บาทครับ รังตัวต่อจะมีตัวอ่อนอยู่ข้างใน บางรังเริ่มเป็นตัวแล้ว บางรังมีตัวอ่อนๆอย่างเดียว แต่ละตัวเหมือนอยู่ในดักแด้จะโผล่หัวสีเหลืองๆ ออกมาตัวละนิดนึงเท่านั้นครับ
"จังหวัดน่านมีป่าเยอะ ในป่าทึบๆจะมีตัวต่อป่าอาศัยอยู่ ต้องคนดูเป็นถึงจะหาได้" ชาวเมืองบอกผม ผมสอบถามอีกถึงเรื่องราวการจับทำให้ทราบว่า การจับนั้นไม่ง่ายๆ ต้องคนทำเป็นเพราะหากพลาดโดนต่อต่อยหลายตัวก็ถึงตายได้เลยครับ เวลาจับเขาเอาไฟไปเผา ให้ควันลอยไปสู่รังต่อ ตัวต่อมันก็คงแสบตา บินหนีไป ทิ้งรังไว้ นักหารังต่อก็จะไปเก็บมา หลังจากนั้นก็ต้องมานึ่งให้สุก เพราะหากไม่นึ่งให้สุก ก็จะบูดได้ เก็บได้ไม่นาน
รังต่อนี้เขาไปทำอะไรกินถึงอร่อย? ผมถามคนขายดู เขาบอกว่า ก็อย่างนี้ได้เลย หรือจะไปตำน้ำพริกก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะกินกันเอามือหยิบมาเป็นตัวๆเข้าปากกันเลย หมูหินเองคิดจะเป็นนักชิม ท่องไปไปทั่วไทย ไม่ลองชิมจะมาเล่าให้เพื่อนๆฟังได้อย่างไร ผมก็เลยซื้อมาหลายรังครับ ทันไดนั้น ก็ลองหยิบกินไป 2-3 ตัว รดชาดนั่นหรือครับ จะออกมันๆ หนุบๆ แบบความหน้าแน่นสูง เหมือนกินอะไรดีหว่า? เหมือนกินอืม อธิบายไม่ถูกไม่เคยกินไรแบบนี้มาก่อน เอาเป็นว่าคล้ายๆแมลงทอดแต่มันกว่า หยุ่นๆนุ่มๆ กรุบหนึบๆ และมีไขมันมากรู้สึกได้เลยครับ
ตลาดยามเย็นของเมืองน่านยังมีของอร่อยๆ อีกหลายอย่างผมเดินดูและถ่ายรูปไปเรื่อยๆ เดี๋ยวผมบรรยายไว้ที่รูปเลยนะครับ ที่เด่นๆ ก็มีหนูนาย่าง ย่างแบบไม่สุกนัก ต้องมาทำให้สุกอีกที มีกบย่างเป็นตัวๆ ตัวใหญ่ๆ นอกจากนี้ที่แปลก ก็มีไม้เป็นท่อนๆ ที่เขาจะเอาไปแกงแบบทางเหนือกินกัน และก็ยังมีทั้งอาหารสำเร็จแบบพื้นเมือง พวกใส่อั่ว ข้าวเหนียว นี่ถือว่าเบสิกไปเลยครับท่าน
[+/-] |
กาแฟคอฟฟี่ฮัทเวียงสา Coffee Hut เวียงสา |
กาแฟคอฟฟี่ฮัทเวียงสา Coffee Hut เวียงสา
มุ่งหน้าจากกรุงเทพมหานคร เข้าสู่จังหวัดพิษณุโลก มุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ และตามด้วยจังหวัดแพร่ ขับรถผ่านอำเภอเด่นชัยเลี่ยงเมืองเข้าสู่อำเภอร้องกวางและมุ่งหน้าสู่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นเส้นทางที่ผมเดินทางอยู่เป็นประจำเพราะบ้านของหมูน้อยเค้าอยู่ที่นั่นครับ ไปครั้งแรกก็ประทับใจเพราะเมืองน่านแห่งนี้สงบเงียบมากๆ ผู้คนใช้ชีวิตที่เรียบง่ายไม่วุ่นวายมีแต่ป่าเขาและเส้นทางที่คดเคี้ยวน้องๆแม่ฮ่องสอนทีเดียว เมืองน่านแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองลับแล เพราะมีเส้นทางเข้าออกจากเส้นหลักทางหลวงได้แค่ทางเดียวเท่านั้น ส่วนเส้นทางอื่นๆที่ออกจากเมืองน่านก็จะคดเคี้ยวและเส้นทางแคบ และหากใครที่ให้เส้นทางน่าน-แพร่แล้วก็จะต้องผ่านอำเภอเวียงสาแน่นอนเพราะอำเภอเวียงสาเป็นอำเภอแรกที่จะเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดน่าน แต่ก่อนตอนที่ผมไปใหม่ๆเค้าเป็นร้านเล็กๆเก่ากว่านี้ แต่ตอนนี้เค้าได้ปรับปรุงร้านน่ารักน่าทานทีเดียว กาแฟนะครับที่น่าทานอิๆ ไม่ใช่ร้าน55 สีน้ำตาลภายในร้านตกแต่งแบบเรียบง่ายโล่งสบายตา ติดแอร์ให้ท่านๆได้พักร้อนด้วยแต่ที่จังหวัดน่านก็อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปีอยู่แล้ว แต่เค้าก็ติดไว้ให้แขกที่แวะเวียนมาทาน มีทั้งขาจรและขาประจำ และเราเองเป็นทั้งขาจรและขาประจำครับอิๆ และผมนายหมูหินที่ตระเวนชิมกาแฟไปทั่วประเทศขออนุญาติตั้งชื่อร้านให้รู้กันเองแบบชาวหมูหินเราว่าชื่อร้าน “Coffee Hut Wing Sa” แล้วกันนะครับ เพราะว่ากาแฟ Coffee Hut เค้าก็มีอยู่หลายสาขา แต่ที่เห็นๆอำเภอเวียงสานี้จะมีอยู่ที่เดียวครับ แล้วเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวอย่างเราต้องเดินทางผ่านอยู่แล้ว ไปๆมาๆก็อย่าลืมลองชิมร้าน “Coffee Hut Wing Sa” นี้ดูสักครั้งนะครับ ราคากาแฟร้าน “Coffee Hut Wing Sa” “กาแฟเอสเพรสโซ่ปั่นหวานน้อย” หรือ “Espresso Frappe” ราคาแก้วละ 50 บาท/แก้ว Hot Espresso ราคาแก้วละ 30 บาท/แก้ว Cold Espresso ราคาแก้วละ 40 บาท/แก้ว และอีกหนึ่งรายการที่นายหมูหินแนะนำที่หมูน้อยและอีกหลายๆท่านชอบทานและนายหมูหินก็การันตีรสชาติครับคือ “ลาเต้ปั่นหวานน้อย” หรือ “latte’ Frappe” ราคา 55 บาท/แก้ว ลาเต้จะแพงกว่า Espresso Frappe อยู่ที่ 5 บาทครับ ส่วนลาเต้ร้อนก็อยู่ที่ 35 บาท ลาเต้เย็นราคา 45 บาท/แก้ว อร่อยไม่แพ้กัน เอ้า!ใครชอบกาแฟรสชาติไหนเลือกได้ตามใจชอบครับแถมราคาไม่แพงเหมือนกาแฟแบรด์นดังๆเพราะหากใครที่ชิมกาแฟ “Coffee Hut Wing Sa” ที่นายหมูหินแนะน้ำนี้รับรองราคาด้วยเลยครับเพราะอร่อยมากกว่าราคาเสียอีก กาแฟอื่นเค้าก็มีไว้ให้บริการนะครับอย่างกาแฟดอยตุง(Doi Tung Coffee),กาแฟคาปูชิโน(Cappusina Coffee),กาแฟมอคค่า(Mocha),โกโก้(Coco),Green Tea/Tea หรือจะเป็น พีเบอรี่ดอยตุง(Peaberry Doi Tung)
[+/-] |
ไหว้พระเก้าวัดเมืองที่ “เมืองน่าน” |
1.วัดพระธาตุเขาน้อย
จากอำเภอเวียงสาไปในตัวเมือง 25 กิโลเมตร แต่จากบ้านแม่ไป 18 กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่ตัวเมือง วัดแรกที่เราจะแวะเลยก็คือวัดพระธาตุเขาน้อย เพราะถ้าหากเข้ามุ่งหน้าสู่ตัวเมืองจังหวัดน่านจะเจอวัดพระธาตุเขาน้อยอยู่ซ้ายมือ สูงเด่นเป็นสง่า และเห็นยอดพระธาตุแต่ไกล วัดพระธาตุเขาน้อยเป็นวัดที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองน่านมานานแสนนานว่ากันว่าอยู่มาคู่กับวัดพระธาตุแช่แห้งเลยทีเดียวครับ และวัดพระธาตุเขาน้อยนี้เองสามารถมองเห็นวิวตัวเมืองน่านได้อย่างชัดเจน หากไปยืนอยู่ที่วัดพระธาตุเขาน้อยนี้เราจะได้รู้ว่าเมืองน่านนี้ไม่ใหญ่นักเลยเป็นเมืองที่เล็กมากพอกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เลย วัดพระธาตุเขาน้อย อยู่บนยอดเขาน้อยบ้านดู่ใน ห่างจากศาลากลางจังหวัด ในทางทิศตะวันตก ประมาณ ๒ กิโลเมตร ยอดเขาสูง ประมาณ ๘๐๐ ฟุต มีเส้นทางรถยนต์สามารถขึ้นไปยอดพระธาตุได้ด้วย และมีทางบันไดเดินขึ้นวัดพระธาตุเขาน้อยได้ด้วย คนโบราณเค้าสันนิษฐานว่า มีอายุใกล้เคียงกับ วัดพระธาตุแช่แห้งมีความเชื่อว่ายอดพระธาตุเขาน้อยและขอดพระธาตุแช่แห้งจะส่องแสงหากันวันเข้าพรรษา จะเห็นเป็นเส้นพาดผ่านตัวเมืองไป แต่นี่ก็เป็นตำนานเล่าขานกันมาและเป็นความเชื่อส่วนบุคคล
2.วัดศรีพันต้น
วัดศรีพันต้นเป็นวัดที่สวยงามและได้การบูรณะใหม่มีสีเหลืองอร่ามงดงามยิ่งนัก วัดศรีพันต้นตั้งอยู่มุมสี่แยกพันต้น หากเดินทางจากเมืองแพร่เข้าเมืองน่านจะเห็นได้ชัดเจน เพราะหากใครเดินทางมาจากเมืองแพร่จะเห็นเด่นสง่าอยู่ที่สี่แยกพันต้น ทางด้านซ้ายมือ ภาพผนังโบสถ์ของวัดวัดศรีพันต้นนี้เป็นภาพวาดประวัติศาสตร์เมืองน่าน ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองน่านทั้งหมดและได้การบูรณะใหม่ให้มีสีสันที่งดงามเหมาะแก่การเยี่ยมชมยิ่งนัก หากใครได้มีโอกาสไปเมืองน่านอย่างผมก็ลองแวะชมกันได้ครับเพราะเมืองน่านเค้ามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและเหมาะแก่การอนุรักษ์ไว้ยิ่งนัก
3.เสาหลักเมืองน่านและวัดมิ่งเมือง
เสาหลักเมืองน่านมีมาตั้งแต่นานมากแล้วที่พบซากของวิหารก็ประมาณปีพ.ศ. 2400 มีเสาหลักเมืองเป็นท่อนซุงขนาดใหญ่มากหากเอาคนโอบก็ประมาณสองคนโอบได้ ต่อมาเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าผู้ครองนครน่าน ได้สถาปนาชื่อใหม่ให้คือ “วัดมิ่งเมือง”ที่ชาวน่านเค้าเรียกกันมาจนถึงปัจจุบันนี้นี่เอง ต่อมาปี พ.ศ. 2527 ได้มรการรื้อถอนเพื่อสร้างวิหารหลังใหม่เป็นแบบล้านนาร่วมสมัยจนอยู่ถึงปัจจุบัน แต่วัดมิ่งเมือง ก็ได้มีการบูรณะมาเรื่อยๆเพื่อให้และมีความสวยงามจนมาถึงปัจจุบันนี้ ความสวยงามของวัดมิ่งเมืองนี้ยากที่จะบรรยาย และวัดมิ่งเมืองนี้ก็มีเสาหลักเมืองตั้งอยู่หน้าวิหาร เป็นเสาหลักเมืองที่เก่าแก่อยู่คู่เมืองนานมาช้านาน และเป็นที่ศักการะบูชาของคนทั่วไป เสาร์อาทิตย์จะมีมัคคุเทศน้อยมาคอยให้ความรู้เราอยู่ที่วัดมิ่งเมืองด้วย สังเกตุได้ง่ายๆก็คือน้องๆจะแต่งชุดนักเรียน น่ารักไปอีกแบบ ทำให้เราได้ความรู้ไม่น้อย
4.วัดภูมินทร์
วัดภูมินทร์เป็นวัดที่โด่งดังไปทั่วโลกเพราะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังศิลปกรรมไทลื้อ ที่เล่าเรื่องชาดก ตำนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีตที่งดงามและที่โด่งดังเอามากและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็คือ “ภาพเสียงกระซิบ” เป็นภาพชายกระซิบข้างหูหญิงนางหนึ่ง เราจะเรียกได้ว่า “ภาพเสียงกระซิบบันลือโลก” วัดภูมินทร์จะมีความแปลกไม่เหมือนวัดอื่นในเมืองน่านก็คือโบสถ์และวิหาร สร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน ประตูไม้ทั่งสี่ทิศ แกะสลักลวดลายงดงามโดยฝีมือช่างเมืองน่าน นอกจากนี้ฝาผนังแสดงถึงชีวิตและวัฒนธรรมของยุดสมัยที่ผ่านมา ตามพงศาวดารของเมืองน่าน วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2139 โดยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ สร้างขึ้น หลังจากขึ้นครองนครน่านได้ 6 ปี ปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์ " ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ผู้สร้างแต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์ดั้งกล่าว ความสวยแปลกของวัดภูมินทร์ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยคือ เป็นพระอุโบสถและพระวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน เป็นทรงจัตุรมุข (กรมศิลปากร ได้สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถจัตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย) นาคสะดุ้งขนาดใหญ่ แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้บนกลางลำตัว ตรงใจกลางพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่สี่องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชี หันพระพักตร์ออกด้านประตู ทั้งสี่ทิศ เบื้องพระปฤษฎางค์ชนกัน และวัดภูมินทร์ก็อยู่ในความดูแลของกรรมศิลปากรเพื่อจะได้เก็บไว้ให้ลูกหลานดูต่อๆไป หากเดินทางเข้ามาจากจังหวัดแพร่แล้วสี่แยกพันต้นเลี้ยวขวาเลยวัดมิ่งเมืองมาสักห้าร้อยเมตรจะเห็นได้เด่นชัดอยู่ทางด้านขวามือ อยู่ด้านข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ไม่สามารถเอารถเข้าไปจอดในวัดได้ แต่จะมีสถานที่จอดรถอยู่ข้างๆวัด สะดวกในการเดินทางเพราะเมืองน่านเค้าไม่แออัด ถนนหนทางนั้นดีนักเหมาะแล้วที่เป็นเมืองน่าอยู่จริงๆ และวัดภูมินทร์นี้ก็เป็นวัดที่นับว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสมบูรณ์อย่างมาก และจะหาดูที่ไหนในดินแดนล้านนาไม่ได้อีกแล้ว
5.วัดน้อย
วัดน้อยเป็นวัดที่เล็กที่สุดในโลก ตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านหรือเรียกแบบพื้นบ้านว่า “หอคำ” เดิมเป็นคุ้มของ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช สร้างขึ้นเมื่อปี 2446 และที่หอคำนี้เองมีสิงศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอยู่คือ “งาช้างดำ” ตามประวัติกล่าวว่า พญาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่าน เป็นผู้ที่ได้มาเมื่อประมาณปี 1896 เป็นงาข้างซ้ายปลียาว 94 เซนติเมตร วัดโดยรอบส่วนโคนได้ 47 เซนติเมตร น้ำหนัก 18 กิโลกรัม เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. และวัดที่เล็กที่สุดในโลกนี้มีตำนานเล่าขานกันมาว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ได้กราบบังคมทูลถึงจำนวนวัดในเมืองน่านต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่ปรากฏว่านับจำนวนเกินไป 1 วัด จึงได้สร้างวัดน้อยแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อให้ครบตามจำนวนที่กราบทูล พระองค์เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 เพียงครั้งเดียวใน พ.ศ.2516 วัดน้อยคงสร้างหลังจากนั้น รูปทรงของวัดเป็นวิหารก่ออิฐ ถือปูน ขนาดกว้าง 1.98 เมตร ยาว 2.34 เมตร สูง 3.35 เมตร แบบศิลปะล้านนา สกุลช่างน่าน มีพระพุทธรูปและแผงพระพิมพ์ไม้ประดิษฐานอยู่ภายในวัดน้อยแห่งนี้ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ให้วัดน้อยเป็นอันซีนไทยแลนด์(Unseen Thailand)อีกด้วย
6.วัดช้างค้ำวรวิหาร
วัดช้างค้ำวรวิหารอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน(หอคำ) เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง เจ้าผู้ครองนครน่าน พญาภูเข่ง เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1949 พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปทรงสร้างตามสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ ลักษณะภายในโอ่โถง ด้านหน้ามีสิงห์คู่ ยืนตรงเชิงบันได ด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลางทำเป็นประตูใหญ่ และประตูเล็กอยู่ด้านซ้ายและด้านขวา มีทางขึ้นเป็นประตูเล็ก ๆ ตรงข้ามพระประธานด้านทิศตะวันออกและตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และด้านหลัง หน้าบันตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสา ด้านหน้าทุกต้น ตามลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลักลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลาย กนอกระย้าย้อยเหมือนลวดลายที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์ ภายในวัดประดิษฐาน เจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65 % สูง 145 เซ็นติเมตร ยอดพระโมฬีทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2442 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงค์ภูคา เป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 เป็นศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎก ใหญ่ที่สุดในประเทศ วัดช้างค้ำวรวิหารได้บูรณะใหม่มาหลายครั้งเนื่องจากว่ามีการชำรุดทรุดโทรมจากการที่ได้มีรถวิ่งผ่านถนนด้านข้างวัดช้างค้ำวรวิหารเอง แม่เล่าให้ฟังต่อว่าได้มีการปิดถนนด้านข้างพระธาตุหรือถนนหน้าหอคำอยู่หลายครั้ง เนื่องจากการวิ่งของรถทำให้พระธาตุสะเทือนและนำไปสู่การชำรุดทรุดโทรมเร็วกว่าโดนแดดโดนฝนตามธรรมชาติเสียอีก หากอย่างไรนายหมูหินเองก็ฝากผู้ดูแลและนักท่องเที่ยวและชาวเมืองน่านช่วยกันดูแลเพื่อลูกหลานจะได้เห็นต่อๆกันไปนะครับ และภายในวัด วัดช้างค้ำวรวิหารเองก็มีโรงเรียนสอนพระภิกษุสามเณรอยู่ด้ายซ้ายของวัด เป็นสถานที่เล่าเรียนของพระพุทธศาสนาของเมืองน่านนั่นเองครับ
7.วัดหัวข่วง
จากวัดช้างค้ำวรวิหารมาวัดหวัดหัวข่วงไม่ไกลเพราะอยู่เยื้องด้านหลังวัดช้างค้ำ หรืออยู่ด้านข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน(หอคำ) เป็นวัดที่สวยงามอีกวัดหนึ่งในเมืองน่านเพราะมีความสะอากเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบร่มเย็น ภายในวัดหัวข่วงมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับพระเจ้าทองทิพย์ เฉพาะพระพักตร์แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลผสมระหว่างศิลปะพระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ส่วนชายจีวรที่ยาวมาจรดบั้นพระองค์แลดูสั้นกว่าปกติ อาจจะเป็นเพราะการยืดส่วนบั้นพระองค์ให้สูงขึ้นรับกับพระวรกายที่เพรียวบาง พระพุทธรูปองค์นี้คงมีอายุระหว่างครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 21 และวัดหัวข่วง ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงใน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน สร้างด้วย ศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22 และมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามภายในพระวิหารด้วย วัดหัวข่วงเองมีหอไตรตั้งอยู่ด้านนอกวิหาร ส่วนใหญ่แล้วปลูกไว้บนบก เป็นอาคารทรงสูง ใต้ถุนโปร่งหรือก่อทึบ ส่วนใหญ่จะทำบันไดไว้ในตัวอาคาร แต่บางแห่งใช้บันไดพาดขึ้นทางด้านนอก รูปทรงโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับอุโบสถหรือวิหาร แต่มีขนาดเล็ก เช่น หอไตรวัดภูมินทร์ วัดนาปัง วัดข่วง และวัดทุ่งน้อย ซึ่งมีลักษณะพิเศษ เนื่องจากมีการสลักลวดลายที่ฝาด้านนอก ส่วนหลังคาเดิม คงเป็นหลังคาจั่วมีชั้นลดแบบปั้นหยา แต่ในปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมขึ้นใหม่ ทำให้รูปทรง ของอาคารหลังเดิมสูญเสียไป และเมื่อปี พ.ศ.2549 วัดหัวข่วงก็โดนน้ำท่วมอีกระรอกสร้างความเสียหายให้แก่วิหารและหอไตรไม่น้อย
8.วัดสวนตาล
จากวัดหัวข่วงไปวัดสวนตาลประมาณ 2 กิโลเมตรได้ วัดสวนตาลว่ากันว่าเป็นที่สุดท้ายของเจ้านายในสมัยก่อนเพราะเป็นวัดที่ใช้เป็นที่จุติก่อนขึ้นสวรรค์ วัดสวนตาลตั้งอยู่ที่ถนนมหายศ สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมวดี เมื่อ พ.ศ.1770 เจดีย์มีสัณฐานงดงาม ชั้นล่างมีซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ จากภาพถ่ายในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รูปเจดีย์วัดสวนตาลก่อนการบูรณะในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ (ตรงกับรัชกาลที่ 5) เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมองค์พระเจดีย์เป็นทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลศิลปะสมัยสุโขทัย ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญ คือ พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1992 เป็นพระพุทธรูปทองสำริดองค์ใหญ่ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 10 ฟุต สูง 14 ฟุต 4 นิ้ว มีงานนมัสการและสรงน้ำเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และมีการเฉลิมฉลองทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ว่าจะแห่เทศกาลของหลายๆรายการของจังหวัดน่านก็จะมารวมกันที่วัดสวนตาลแห่งนี้เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลนั้นๆไป วัดสวนตาลมีสถานที่ที่กว้างขวางมีลานกว้างและมีวิหารที่สวยงาม
9.วัดพระธาตุแช่แห้ง
ปิดท้ายทริปวันแม่นี้ด้วยการไหว้พระ 9 วัดที่วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุแช่แห้งเป็นวัดประจำจังหวัดน่านและเป็นวัดประจำวันของคนเกิดปีเถาะ เป็นที่นับถือสักการะบูชาของคนเมืองน่านและคนต่างถิ่นเจดีย์พระธาตุแช่แห้ง ลักษณะขององค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตามตำนานเดิมและพงศาวดารเมืองน่าน กล่าวว่า เจ้าพระยาการเมือง เจ้าผู้ครองนครปัวหรืออำเภอปัวในปัจจุบัน สร้างขึ้นในระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หลังจากนั้นมีการสร้างเสริมโครงสร้างหลายครั้งด้วยกัน ครั้งสุดท้าย เจ้าศรีสองเมืองได้สร้างเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบองค์เดิม เมื่อ พ.ศ. 2153 หากว่าพูดถึงอายุของวัดพระธาตุแช่แห้งนี้ก็อายุราวๆ 600 ปีทีเดียว ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง ตามพงศาวดารเมืองน่าน กล่าวว่า พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัย ระหว่างปี พ.ศ. 1897-1901 ปัจจุบันองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 22.5 เมตร สูง 55.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองหรือทองจังโก ลงรักปิดทองตลอดทั้งองค์ หากไปสักการะบูชาวัดพระธาตุแช่แห้งในวันที่แดดจัดท้องฟ้าโปร่ง เราจะสามารถเห็นความเรืองรองของวัดพระธาตุแช่แห้งได้ชัดเจนดั่งคำขวัญของเมืองน่านเลยล่ะครับที่ว่า “แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทองเรืองรองพระธาตุแช่แห้ง”
[+/-] |
ล่องแก่งลำน้ำว้า อุทยานแห่งชาติแม่จริม - Mae Charim National Park |
ลำน้ำว้า คือ ต้นน้ำสายหนึ่งของแม่น้ำน่าน ที่มีต้นกำเนิดจากเขาจอม บนเทือกเขาผีปันน้ำพาดผ่านชายแดนระหว่างไทย-ลาว ปกคลุมด้วยป่าต้นน้ำในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่จริม อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ลักษณะของสายน้ำเป็นกำแพงผาหินสองฟากฝั่งเป็นป่าผลัดใบและป่าเบญจพรรณการล่องแก่ง
ลำน้ำว้ามีสายน้ำที่เร้าใจและสนุกสนานกับแก่งที่เป็นลูกคลื่น ไม่อันตรายจนเกินไป จัดว่าอยู่ในระดับ 3-5 ด้วยแก่งต่าง ๆ ในสายน้ำนี้ที่ทอดยาวเป็นระยะ ๆ นับจากจุดเริ่มต้นที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่จริม จะผ่านแก่งน้ำปุ๊ แก่งหลวง แก่งห้วยสาลี่ แก่งต้นไทร แก่งน้ำวน ไปจนสิ้นสุดที่หาดบ้านไร่ โดยใช้เวลาล่องแก่งทั้งสิ้นราว 4-5 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การล่องคือช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม ของทุกปี
การเดินทาง รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปตามเส้นทางสาย กรุงเทพฯ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-แพร่-น่าน ระยะทาง 668 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง เครื่องบิน จากจังหวัดน่านเดินทางไป อุทยานแห่งชาติแม่จริม โดยเส้นทางหมายเลข 1168 ไปยังอำเภอแม่จริม 38 กิโลเมตร เดินทางต่อไปยังบ้านน้ำพาน ระยะทาง 14 กิโลเมตร และแยกขวาไปทางบ้านร่มเกล้า จะถึงทางเข้าอุทยานแห่งชาติแม่จริม อีกราว 3 กิโลเมตรติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
1. บริษัท เนเจอร์ แทรเวลเลอร์
โทร. 0 2375 2062, 0 2375 2412
2. อุทยานแห่งชาติแม่จริม
โทร. 0 5471 0136
ข้อมูลการล่องแก่งจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยล่องแก่ง-แคนู-คยัค
บทนำ เมืองไทย มีพื้นที่ของป่าเขตร้อนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของพืชพรรณไม้ นก และสัตว์ป่า ยิ่งไปกว่านั้น ผืนป่า ใหญ่คือ ต้นกำเนิดของสายน้ำ อันกลายมาเป็นเส้นทางธรรมชาติที่จะนำเราไปพบกับน้ำตกใหญ่กลางป่าลึก ขุนเขาสูงและ ป่าดิบสมบูรณ์ โดยการล่องแก่ง ซึ่งเริ่มต้นกันด้วยตำนานของการใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นแพล่องลำน้ำ เป็นการผสมผสานกัน ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ลงตัวที่สุดสำหรับเมืองไทยที่สมบูรณ์ด้วยป่าไผ่ แต่เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่ มากจนเกินความสมดุล โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เป็นเหตุให้ป่าไผ่ลดหายไปอย่างน่าวิตก จึง มีการนำเรือยางเข้ามาใช้ทดแทน เป็นวิถีทางท่องเที่ยวใหม่ที่หยุดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสามารถนำทางเข้า ถึงธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิดและปลอดภัยบนเส้นทางล่องแก่งตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศ
ภูมิศาสตร์ของแก่งน้ำ สายน้ำคือเส้นชีวิตของคนไทยที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ และที่มาของสายน้ำนั้น มักจะมาจากป่า ดงดิบอันชุ่มชื้น และไหลลงมาจากภูเขาสูงอันก่อให้เกิดธารน้ำที่ไหลแรงและกัดเซาะหุบเขาให้แคบและลึก ไม่มีที่ราบริม ฝั่งน้ำให้เห็นมากนัก ลักษณะหุบเขาในพื้นที่ต้นน้ำจะเป็นรูปตัววี ตามลำน้ำมักจะพบเกาะแก่งขวางอยู่ตามลำน้ำ และสาย น้ำตก สองฝั่งของธารน้ำมักเป็นหินล้วน ๆ ร่องน้ำแคบและตื้น ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และท้องน้ำมีแต่หินและกรวด เนื่องจากตะกอนละเอียด เช่น ดินและทรายถูกน้ำพัดพาไปหมด
ป่าไม้และพืชพรรณ บนเส้นทางของสายน้ำเชี่ยวที่ไหลผ่านเกาะแก่งลงมา ก็คือ ป่าต้นน้ำอันสมบูรณ์ การเดินทางท่องธรรมชาติในรูปแบบ ของการล่องแก่ง จึงเป็นวิถีแห่งสายน้ำที่นอกเหนือจากภูมิประเทศอันงดงามของธารน้ำ ป่าเขา และสายน้ำตกแล้ว ยังจะ พบกับสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ ตั้งแต่พืชพรรณ นก แมลง ผีเสื้อ และปลา สิ่งเหล่านี้คือคุณค่าของการท่องเที่ยว ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม
ผืนป่าไม้ที่มักปรากฏอยู่สองฝั่งน้ำ มีทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังรวมทั้งป่าดิบชื้นที่เขียวชอุ่มตลอดปี ซึ่งจะสังเกตเห็น ไม้จำพวกยาง ไทร ตะเคียน สัก ประดู่ ตะแบก หมาก และหวายชนิดต่าง ๆ พืชพรรณไม้ที่เด่นสำหรับป่าเมืองไทยคือ ไม ้ไผ่ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น ไผ่หก ไผ่หนาม ไผ่ซาง เป็นต้น และบนคาคบไม้จะมีพืชอิงอาศัย เช่น กระเช้าสีดา กล้วยไม้ป่า ชนิดต่าง ๆ สำหรับบริเวณชายน้ำ จะพบกับไม้ริมน้ำ เช่น ต้นจิก ไคร้น้ำ ผักกูด ส่วนบริเวณริมผาหินปูนที่เป็นธารน้ำตกจะ เต็มไปด้วยมอส และตะไคร่น้ำ จะมีเฟิร์นก้านดำขึ้นปกคลุม
ชีวิตในสายน้ำ ตามสองฝั่งแม่น้ำจะเป็นแหล่งที่นกน้ำหลายชนิดอาศัยหากินอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะนกที่ชอบกินปลาและแมลง เช่น นกกระเต็น ซึ่งก็มีอยู่หลายชนิดที่พบในบริเวณต้นน้ำ คือ นกกระเต็นน้อยธรรมดา นกกระเต็นอกขาว นกกระเต็นหัวดำ และ นกกระเต็นลายขาวดำ เป็นต้น นกในลำน้ำที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่ง คือ นกกางเขนน้ำ ซึ่งมีสีขาวดำหางยาว มักอยู่ตามลำธาร ต้นน้ำ นอกจากนี้ยังอาจจะพบนกเอี้ยงถ้ำ นกกระยาง และนกในป่าเบญจพรรณที่ลงมาหากินตามลำน้ำ
ริมฝั่งน้ำโดยทั่วไปจะเต็มไปด้วยแมลงและผีเสื้อมากมาย โดยเฉพาะแมลงปอ แมงมุมน้ำ เป็นสิ่งมีชีวิตที่พบง่ายมาก บาง แห่งตามหาดทรายจะเป็นที่ดินเค็ม ทำให้ผีเสื้อลงมาเกาะกันเป็นฝูง
ข้อควรปฏิบัติก่อนการเดินทาง 1. ก่อนจะไปล่องแก่งควรเตรียมตัวสำหรับการเดินทางให้เหมาะสมเพื่อให้ได้รับความสนุกสนาน ความปลอดภัย โดยมีส่งผล กระทบกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้ 2. พื้นที่ที่จะเดินทางไปส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตป่าต้นน้ำที่ธรรมชาติมีความเปราะบาง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะ ต้องติดต่อขออนุญาตเดินทางเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ถูกต้อง เช่น การขออนุญาตต่อกรมป่าไม้ หน่วย งานที่ดูแลพื้นที่เหล่านั้นด้วย 3. การล่องแก่งเป็นกิจกรรมประเภทท่องเที่ยวธรรมชาติกึ่งการผจญภัย จำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัด ระวังอย่างยิ่งในการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โดยเลือกใช้บริการที่มีการจดทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวแล้วเรียบร้อย และตรวจสอบรายการท่องเที่ยว และข้อตกลงต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เช่น การประกันภัย เครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีการให้บริการ 4. การเตรียมตัวท่องเที่ยวทางน้ำ ควรเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสม เช่น กางเกงขาสั้น และเสื้อผ้า ควรใช้ผ้าที่ แห้งง่าย รองเท้าแตะที่มีสายรัดจะดีมาก เพราะต้องเตรียมพร้อมที่จะเปียกน้ำ และขึ้นไปเดินบนฝั่ง หากมีการเดินป่าระยะทางไกล ก็จำเป็นต้องนำรองเท้าผ้าใบไปอีกคู่หนึ่ง ในช่วงฤดูหนาวควรมีเสื้อแจ๊กเกต ผ้ากันลมไว้ใส่กันหนาวช่วงที่ล่องแก่งด้วย 5. เสื้อผ้า อุปกรณ์สำหรับแค้มปิ้ง และกล้องถ่ายภาพ และของใช้ต่าง ๆ ควรใส่ถุงพลาสติค หรือถุงกันเปียก ให้เรียบร้อย การเตรียมสัมภาระต่าง ๆนำไปเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ เพราะพื้นที่ขนสัมภาระจำกัด 6. ในการล่องแก่งควรศึกษาข้อปฏิบัติการพายเรือ พยายามมีส่วนร่วมในการเดินทางอย่างดี ควรปฏิบัติตัว ตามคำแนะนำของกัปตันเรือ และมัคคุเทศก์ 7. หากมีการรับประทานอาหาร หรือไปประกอบอาหารในป่า ควรเลือกรายการอาหารที่สะดวกง่ายและ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องกระป๋อง ภาชนะประเภทกล่องโฟม ขวดน้ำ พลาสติคที่ใช้ครั้งเดียว เพื่อลดขยะ และมลพิษ ทุกครั้งที่เก็บแคมป์ ควรดูแลความสะอาด พยายามให้พื้นที่กลับสู่สภาพเดิมให้มากที่สุด
หลักการพายเรือล่องแก่ง ลักษณะของสายน้ำและการอ่านสายน้ำ ความแรงของกระแสน้ำจะขึ้นอยู่กับส่วนประกอบต่าง ๆ ในธรรมชาติ เช่น ความลึก (Volume) โดยร่องน้ำยิ่งลึกมาก กระแสน้ำก็จะยิ่งไหลแรงมากขึ้นตาม การไหลของน้ำ (Gradient) สามารถแยกได้เป็น 2 อย่าง คือ แก่ง (Rapid) ซึ่งน้ำจะไหลเร็วและแรงมาก แอ่ง (Pool) น้ำจะไหลช้าและมีความลึกมาก ปกติโดยทั่วไป บริเวณต้นแก่งน้ำ จะไหลเอื่อยและช้ากว่ากลางแก่ง หรือปลายแก่ง
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรรู้และนักล่องแก่งต้องคำนึงถึงก็คือ ความเร็วของกระแสน้ำใต้ผิวน้ำและระดับน้ำจะต่างกัน โดยช่วงต่ำ กว่าผิวน้ำลงไป กระแสน้ำจะค่อย ๆ ลดความเร็วลง
สำหรับความลาดเอียงของหินใต้น้ำ (River Bend) จะมีผลต่อความแรงของกระแสน้ำด้วย คือบริเวณที่ลึก น้ำจะไหล แรงกว่าบริเวณที่ตื้น และภายใต้กระแสน้ำอาจจะมีหินใต้น้ำที่มองไม่เห็น และเป็นอันตรายไม่น้อย คือต้นไม้ หรือกิ่งไม้ที่ล้ม ขวางน้ำ อาจจะส่งผลอันตรายต่อลูกเรือ หรือตัวเรือได้
ร่องน้ำรูปตัววี (downstream V) สายน้ำจะบีบตัวเข้าหากันเป็นรูปตัววี โดยมีโขดหินสองข้างขวางลำน้ำ ทำให้เกิด เป็นร่องน้ำระหว่างหินนั้น ควรบังคับหัวเรือให้ตรงตามร่องตัววีนั้น แต่อย่างไรก็ตาม นายท้ายเรือจะต้องตัดสินใจในการ แก้ไขสถานการณ์ล่วงหน้าอีกครั้ง เพราะช่องทางที่ดีที่สุดที่เห็นนั้น อาจจะพัดนักผจญแก่งไปกระแทกกับหินก็ได้
ร่องน้ำรูปตัววีคว่ำ ที่หันมุมแหลมเข้าหาเรานั้น จะเป็นอันตรายมาก เรืออาจจะกระแทกกับหิน หรือน้ำอาจดูดเข้าไปหา จนทำให้เรือ หรือตัวเรากระแทกกับแก่งหินได้
น้ำวน ในกรณีนี้จะต้องพายเรือออกจากศูนย์กลางของวังน้ำวนให้เร็วที่สุดและกรณีผู้ที่ตกน้ำก็เช่นกัน จะต้องพยายาม ว่ายออกจากศูนย์กลางให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องสนใจว่าฝั่งจะอยู่ทางใด และเมื่อหลุดจากวังน้ำวนมาแล้วค่อยว่ายเข้าหาฝั่ง
คลื่น (Wave) ในกระแสน้ำที่ไหลแรงและลึก หินใต้น้ำและผิวน้ำจะทำให้เกิดคลื่นน้อยใหญ่แตกต่างกัน คลื่นนั้นอาจจะ ม้วนเป็นวงอย่างแรง ควรพยายามหลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้ควบคุมเรือยาก เรืออาจจะถูกกระแสน้ำม้วนทำให้พลิกคว่ำได้
น้ำนิ่งหลังแก่ง (Eddy) กระแสน้ำบริเวณหลังแก่งจะเป็นน้ำวนไหลย้อนทิศทาง ทำให้มีความแรงของน้ำน้อยลง สามารถใช้เป็นจุดพักเรือได้
น้ำม้วนหน้าแก่ง (Hydro) เกิดจากกระแสน้ำที่ตกจากที่สูง น้ำที่ตกลงมาจะม้วนตัวอยู่หน้าแก่งก่อนที่จะไหลต่อไป ซึ่ง ถ้ามีความแรงมาก ๆ ก็สามารถที่จะพลิกเรือให้คว่ำได้ และถ้ากระแสน้ำไหลตกจากที่สูงมากเท่าใด ก็จะยิ่งอันตรายมาก เท่านั้น
ถ้ากรณีที่เรือพลิกคว่ำหลังลงจากที่สูงแล้ว ผู้ตกน้ำควรจะดำน้ำมุดหนีโพรงน้ำนั้นให้เร็วที่สุด อย่าพยายามขึ้นมาเหนือน้ำ เพราะกระแสน้ำจะม้วนดูดกลับลงไปอีก
การช่วยเหลือตัวเองเมื่อพลัดตกเรือ เมื่อตกไปในน้ำก็ให้พยายามว่ายเข้าหาเรือ หรือเข้าฝั่งให้เร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นจากกระแส น้ำที่พัดพาตัวเราให้ไปตกอีกแก่งหนึ่งได้ เมื่อตกน้ำ ให้พยายามลอยตัวให้อยู่เหนือน้ำในลักษณะท่านอนหงาย ยกขาทั้งสองข้างขึ้นระดับผิวน้ำ เสื้อชูชีพจะช่วยพยุง ตัวให้ลอย พยายามให้ขาไปข้างหน้าขณะที่ไหลไปตามกระแสน้ำ ค่อย ๆ เตะขาอย่างช้า ๆ เพื่อชะลอความเร็วและป้องกัน ตัวเองจากการกระแทกกับแก่งหิน ที่สำคัญอย่างยิ่งในการล่องเรือ ผู้เชี่ยวชาญเน้นที่ความปลอดภัยทุกครั้ง โดยเฉพาะอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น เสื้อชูชีพ หมวกกัน น็อก เสื้อชูชีพจะช่วยพยุงตัวเราให้ลอยเหนือน้ำ ส่วนหมวกกันน็อกนอกจากจะช่วยป้องกันศีรษะกระแทกกับหินแล้ว ใน กรณีตกจากเรือ ยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุไม้พายของคนข้างหลังตีอีกด้วย
การจัดระดับความยากของแก่งตามมาตรฐานสากล ระดับ 1 ง่ายมาก มีแก่งเล็กน้อย ระดับ 2 ธรรมดา น้ำไหลแรงขึ้น มีแก่งที่ต้องใช้เทคนิค ระดับ 3 ปานกลาง เริ่มมีแก่งน่าตื่นเต้น เทคนิคการพายสูงขึ้น ระดับ 4 ยาก มีแก่งที่ต้องใช้ทั้งเทคนิคและทักษะในการพาย ระดับ 5 ยากมาก น้ำไหลเชี่ยว ต้องใช้เทคนิคและประสบการณ์การพายสูง และต้องมีความระมัดระวัง ระดับ 6 อันตราย ไม่เหมาะแก่การล่องแก่ง
ล่องแก่งลำน้ำว้า เป็นกิจกรรมนันทนาการหลักของอุทยานแห่งชาติแม่จริม จุดเริ่มต้นที่บ้านน้ำปุ๊ ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม และสิ้นสุดที่บ้านหาดไร่ ตำบลส้านนาหนองใหม่ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ระยะทางจะเหลือ 19.2 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางล่องแก่งมีเกาะแก่งให้ผจญภัยตลอดเส้นทาง มีหาดทรายสำหรับจอดแพเล่นน้ำ หลายแห่ง รวมทั้งทัศนียภาพสองฝั่งลำน้ำที่งดงาม โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะสวยกว่าฤดูกาลอื่นๆมาก สามารถล่องแพได้ทุกฤดู ยกเว้นบางช่วงในฤดูฝนซึ่งมีน้ำหลากไม่สมควรล่องแพเพราะอาจเกิดอันตรายได้งาย"ล่องแก่งลำน้ำว้า สุดยอดแห่งควมมันส์เชิญมาล่องแก่งลำน้ำว้ากันนะครับ"กิจกรรม -เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - แค็มป์ปิ้ง - ล่องแก่ง
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ชบาไพร” อุทยานแห่งชาติแม่จริมได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ชบาไพร” ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติไว้บริการ เพื่อให้ศึกษาระบบนิเวศป่าไม้ ซึ่งจะได้รับความรู้ต่างๆ ได้จากสถานีที่อยู่ในเส้นทาง
สถานที่ติดต่ออุทยานแห่งชาติแม่จริมอ. แม่จริม จ. น่าน 55170โทรศัพท์ 0 5477 9402
การเดินทางรถยนต์ จากอำเภอแม่จริมใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1243 สายแม่จริม-น้ำมวบ ไปประมาณ 13 กิโลเมตร ถึงบ้านห้วยทรายมูล มีทางแยกเข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ มีสถานที่กางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำ-ห้องสุขารวม ไว้ให้บริการ ท่านสามารถนำเต็นท์มากางเอง หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีเต็นท์ขนาด 2-3 คน ให้บริการจำนวน 15 หลัง รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
[+/-] |
ล่องแก่งลำน้ำว้า อุทยานแห่งชาติแม่จริม - Mae Charim National Park |
ผจญภัยสุดขั้ว ล่องแก่งน้ำว้า เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าน้ำว้าและป่าแม่จริม ป่าน้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ และป่าน้ำว้าและ ป่าห้วยสาลี่ ในท้องที่ตำบลน้ำพาง ตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม และตำบลไหล่น่าน ตำบลส้านนาหนองใหม่ ตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า ภูเขา ลำธาร และหน้าผาที่สวยงามยิ่ง สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่อสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป มีเนื้อที่ประมาณ 271,250 ไร่ หรือ 434 ตารางกิโลเมตร มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เด่นคือ การล่องแก่งลำน้ำว้าโดยใช้แพยาง ระยะทาง 19.2 กิโลเมตร เริ่มต้นจากบ้านน้ำปุ๊ อำเภอแม่จริม ถึงบ้านหาดไร่ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
ความเป็นมา : สืบเนื่องจากนายวิทยา หงษ์เวียงจันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่านได้ทำหนังสือเสนอส่วนอุทยานแห่งชาติว่า พื้นที่ป่าระหว่างอุทยานแห่งชาติดอยภูคาและอุทยานแห่งชาติศรีน่านมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่งสมควรที่จะได้มีการสำรวจเพื่อจัดตั้งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติ ส่วนอุทยานแห่งชาติเห็นชอบตามเสนอและรายงานตามลำดับถึงกรมป่าไม้ ซึ่งกรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ สัตว์ป่า แหล่งต้นน้ำลำธารและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงได้ออกคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1586/2537 ลงวันที่ 13 กันยายน 2537 ให้นายผดุง อยู่สมบูรณ์ นักวิชาการป่าไม้ 5 ส่วนอุทยานแห่งชาติ ทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานพุม่วง จังหวัดสุพรรณบุรี และหัวหน้าวนอุทยานพระแท่นดงรัง จังหวัดกาญจนบุรี ในขณะนั้นไปดำเนินการสำรวจจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำว้า-ป่าแม่จริม ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำว้า ป่าห้วยสาลี่ และพื้นที่ป่าใกล้เคียงในท้องที่อำเภอแม่จริม อำเภอเวียงสาและอำเภอใกล้เคียง จังหวัดน่าน เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยให้ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ แห่งนี้ด้วย
จากการสำรวจพบว่า สภาพป่าดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ตลอดจนมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดเหมาะสมที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ และได้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อคราวการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2538 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามรายงานเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป อุทยานแห่งชาติแม่จริมจึงมีสถานภาพอยู่ในขั้นเตรียมการประกาศ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่จริมอยู่บริเวณริมลำน้ำว้า บ้านห้วยทรายมูล หมู่ที่ 5 ตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน
กรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0712.3/1469 ลงวันที่ 21 กันยายน 2543 ว่าได้ดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำว้าและป่าแม่จริม ป่าน้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ และป่าน้ำว้าและ ป่าห้วยสาลี่ ในท้องที่ตำบลน้ำพาง ตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม และตำบลไหล่น่าน ตำบลส้านนาหนองใหม่ ตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พร้อมจัดทำบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบการร่างพระราชกฤษฎีกาและแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ที่ นร 0602/801 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ขอให้กรมป่าไม้จัดตั้งผู้แทนไปร่วมชี้แจงรายละเอียดในการตรวจร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าดังกล่าว ในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 และกรมป่าไม้ได้สั่งการให้ นายนฤมิต ประจิมทิศ เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 6 ส่วนอุทยานแห่งชาติ ไปร่วมชี้แจงรายละเอียดการประชุมเพื่อตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาฯ และที่ประชุมพิจารณาแล้วได้มอบหมายให้ ผู้แทนกรมป่าไม้รับไปแก้ไขรายละเอียดแผนที่ฯให้เป็นไปตามผลการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ที่ นร 0602/371 ลงวันที่ 11 เมษายน 2544 แจ้งว่า ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าน้ำว้าและป่าแม่จริม ป่าน้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ และป่าน้ำว้าและป่าห้วยสาลี่ ในท้องที่ตำบลน้ำพาง ตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม และตำบลไหล่น่าน ตำบลส้านนาหนองใหม่ ตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เสร็จแล้ว และขอให้กรมป่าไม้แจ้งยืนยันความเห็นชอบในร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกลับไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรมป่าไม้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ตามหนังสือ ที่ กษ 0712.3/11313 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2544
ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติแม่จริม มีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีความสูงชันมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ทอดตัวจากทิศเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีเทือกเขาหลวงพระบางซึ่งทอดตัวจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ เป็นเขตแนวเขตกั้นระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300-1,652 เมตร ความสูงของเทือกเขาจะค่อยลดหลั่นไปทางทิศตะวันตก ยอดดอยที่มีความสูงมากที่สุดคือ ดอยขุนลาน (1,652 เมตร) อยู่ทางทิศตะวันออกของพื้นที่ รองลงมาคือ ดอยแดนดิน (1,558 เมตร) ดอยขุนน้ำปูน (1,530 เมตร) ดอยขุนคูณ (1,307 เมตร) มีแม่น้ำว้าซึ่งไหลมาจากเทือกเขาหลวงพระบางไหลผ่านทางทิศตะวันตกของพื้นที่ เป็นระยะทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร มีลำธาร และลำห้วยที่เป็นต้นน้ำน่านอยู่หลายสาย เช่น ห้วยทรายมูล ห้วยสาสี่ ห้วยบ่ายน้อย ห้วยบ่ายหลวง ห้วยน้ำพาง ลำน้ำแปง และแต่ละสายล้วนเป็นอู่น้ำของราษฎรรอบพื้นที่
ลักษณะภูมิอากาศ ลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือฤดูร้อนซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมฤดูร้อนที่พัดจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ฝั่งทะเลอันดามัน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน เริ่มเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดพาเอาความหนาวเย็นจากแถบขั้วโลกเหนือมายังประเทศไทย เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์
ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2535-2541 วัดที่สถานีอุตุนิยมวิทยา จังหวัดน่าน วัดได้ 1,206 มิลลิเมตรต่อปี เฉลี่ยสูงสุดในเดือนสิงหาคมวัดได้ 320 มิลลิเมตร และต่ำสุดในเดือนมกราคม วัดได้ 6 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ พ.ศ. 2538 – 2541 วัดได้ 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเดือนพฤษภาคม วัดได้ 30 องศาเซลเซียส และต่ำสุดเดือนมกราคม วัดได้ 22 องศาเซลเซียส
ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2541 วัดได้ 76 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณความชื้นสัมพัทธ์ เฉลี่ยสูง สุดในเดือนสิงหาคม 85 เปอร์เซ็นต์ และต่ำสุดในเดือนมีนาคม 63 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยรายปี 77 เปอร์เซ็นต์
พืชพรรณและสัตว์ป่า สภาพป่าอุทยานแห่งชาติแม่จริมประกอบด้วย ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง สัตว์ป่าที่ เด่น ได้แก่ เสือ เลียงผา หมี และนกยูง